ความรู้เรื่อง ตำแหน่งทางการทูต

ทำความรู้จักกับตำแหน่งทางการทูต

หลายท่านอาจต้องมีการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ไม่ว่าจะของประเทศไทยเอง หรือของต่างประเทศ การทำความรู้จักกับตำแหน่งในคณะทูตานุทูตเอาไว้เพื่อใช้ในการติดต่อ หรือเพื่อประดับความรู้ก็ไม่เสียหลายค่ะ

สถานเอกอัครราชทูต

ตำแหน่งที่ถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งของสถานเอกอัครราชทูต ก็คือเอกอัครราชทูต ( Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary: เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม) ท่านผู้อ่านอาจจะได้ยินบ่อยๆ ในข่าวในพระราชสำนักค่ะ เวลาท่านเอกอัครราชทูตทั้งหลายเข้าถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อไปปฎิบัติราชการเป็นผู้แทนพระองค์ฯ ในต่างประเทศ ซึ่งคำนี้ หมายถึง เอกอัครราชทูตที่รัฐผู้ส่งแต่งตั้งไปยังรัฐผู้รับโดยมอบหมายอำนาจให้ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนของรัฐผู้ส่ง หากท่านเอกอัครราชทูตมิได้มีถิ่นพำนักอยู่ในรัฐผู้รับก็จะเรียกว่า Non-resident Ambassador

อัครราชทูต (Minister) ตำแหน่งทางการทูตนี้ ถ้าเห็นแค่ภาษาอังกฤษ อย่าคิดว่าเป็นรัฐมนตรีนะคะ เพราะว่าคำนี้ในทางการทูตจะหมายถึง เบอร์ 2 ของสถานเอกอัครราชทูตค่ะ เป็นตำแหน่งที่รองลงมาจากเอกอัครราชทูต

อุปทูต (Chargé d’affaires) ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งชั่วคราว ในกรณีที่ตำแหน่งของหัวหน้าคณะผู้แทนว่างลง หรือ หัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ของตนได้ อุปทูตก็จะปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นการชั่วคราว

ตำแหน่งอื่นๆ เรียงตามลำดับก็ได้แก่

อัครราชทูตที่ปรึกษา Minister Counsellor

ที่ปรึกษา Counsellor

เลขานุการเอก First Secretary

เลขานุการโท Second Secretary

เลขานุการตรี Third Secretary

ผู้ช่วยเลขานุการ Attaché

*** คำว่า “เลขานุการ” เป็นคำเรียกตำแหน่งของเจ้าหน้าที่การทูตค่ะ ไม่ใช่ตำแหน่ง เลขาฯ คนที่ 1 หรือ เลขาฯ คนที่ 2 หรือ ผู้ที่ทำงานเป็นเลขานุการผู้บริหาร อย่างที่หลายท่านเข้าใจนะคะ ซึ่งนักการทูตเหล่านี้ อาจจะปฏิบัติงานในด้านต่างๆ เช่น พิธีการทูต สารนิเทศ เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น หรือ อาจจะปฎิบัติงานเป็นผู้ช่วยท่านเอกอัครราชทูตก็ได้ค่ะ

*** ส่วนคำว่าผู้ช่วยเลขานุการ (Attaché) เป็นตำแหน่งที่ใช้ในกระทรวงการต่างประเทศจะแตกต่างกับตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ หรือผู้ช่วยฝ่ายแรงงาน หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Defence attaché / Naval attaché หรือแม้กระทั่ง Commercial attaché นะคะ เนื่องจากผู้ช่วยทูตเหล่านี้จะเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ หรือฝ่ายทหาร ที่จะถูกส่งไปปฎิบัติงาน ณ สถานเอกอัครราชทูตเพื่อเป็นผู้ช่วยเอกอัครราชทูตในด้านต่างๆ และชื่อตำแหน่งจะแสดงถึงต้นสังกัดด้วย ดังนี้

Defence Attaché ผู้แทนทางทหารของกองทัพ หรือของกระทรวงกลาโหม

Army Attaché ผู้แทนทางทหารของกองทัพบก ภาษาไทยเรียกว่า ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก

Naval Attaché ผู้แทนทางทหารของกองทัพเรือ หรือผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ

Air Attaché ผู้แทนทางทหารของกองทัพอากาศ หรือผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ

Commercial Attaché ผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์

Labour Attaché ผู้แทนของกระทรวงแรงงาน หรือ ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน

*** สำหรับตำแหน่ง Attaché ของกระทรวงการต่างประเทศนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ระดับที่มีอาวุโสน้อยที่สุดในตำแหน่งสายการทูต ในอดีตเรียกว่าตำแหน่ง “นายเวร”

สถานกงสุลใหญ่

สถานกงสุลใหญ่จะตั้งอยู่ตามเมืองสำคัญต่างๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงค่ะ เพื่อที่จะได้ปฎิบัติงานด้านการส่งเสริมผลประโยชน์ และคุ้มครองคนของชาติตนเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านเอกสาร นิติกรรมหรือหนังสือเดินทาง หรือโอกาสของคนและประเทศของตนเอง ในประเทศนั้นๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น

กงสุลใหญ่ (Consul – General) ก็คือหัวหน้าสำนักงาน หรือเบอร์หนึ่งของสถานกงสุลใหญ่ค่ะ

นอกจากนี้ในสถานกงสุลใหญ่ก็จะมีตำแหน่งอื่นๆ ได้อีกเช่น

  • รองกงสุลใหญ่ Deputy Consul-General
  • กงสุล Consul
  • รองกงสุล Vice Consul

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ www.facebook.com/notes/175939392476269/