“World Wide Web” หรือ www เครือข่ายเว็บไซต์ใยแมงมุมที่เป็นประตูสู่อินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลกมีอายุครบ 25 ปีพอดีในวันที่ 13 มี.ค. ปีนี้ โดยวันนี้เมื่อปี 1989 นักพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติอังกฤษของเซิร์น องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ หรือ European Center for Nuclear Research (CERN) นามว่าทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ลงมือเสนอแนวคิดผ่านเอกสารโครงงานชื่อว่า “การจัดการข้อมูล (Information Management: a proposal)” ซึ่งช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นสามารถสะท้อนพัฒนาการครั้งสำคัญของโลกผ่าน 12 ภาพต่อไปนี้ | |||
บันทึกระบุว่า 13 มีนาคม 1989 เป็นวันที่ท่านเซอร์ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ยื่นเสนอเอกสารโครงงานแรกที่ถูกพัฒนามาเป็นเครือข่ายเว็บไซต์ใยแมงมุมทั่วโลกหรือ World Wide Web ครั้งแรกที่เซิร์น โดยเซิร์นเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศแถบยุโรปที่ตั้งในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โครงการนี้ตั้งเป้าขจัดปัญหาข้อมูลความรู้ระหว่างนักวิจัยในเซิร์นสูญหาย โดยเซอร์ทิมใช้แนวคิด “ข้อความหลายมิติ” หรือ hypertext จุดนี้โรเบิร์ต ไคลิยู (Robert Cailliau) วิศวกรระบบสัญชาติเบลเยี่ยมคือผู้ร่วมพัฒนาคนสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์สามารถเรียกดูผ่านโปรแกรมเบราว์เซอร์สำเร็จ |
|||
ทิม เบอร์เนอร์ ลี ถ่ายภาพที่เซิร์นในปี 1994 คู่กับคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ “Next” ที่ใช้ในการพัฒนา World Wide Web |
|||
ภาพประกอบในโครงการ Information Management ที่ทิม เบอร์เนอร์ ลีตั้งใจบรรยายแนวคิดเครื่องแม่ข่ายและลูกข่าย (client/server) สำหรับใช้งานในระบบ hypertext |
|||
โรเบิร์ต ไคลิยู (Robert Cailliau) วิศวกรระบบสัญชาติเบลเยี่ยม ถ่ายภาพคู่กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์เว็บไซต์เครื่องแรกของโลกซึ่งให้บริการเว็บไซต์แรกของโลกเช่นกัน เว็บไซต์นี้คือ Info.cern.ch ให้บริการครั้งแรกที่เซิร์นตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 1990 สำหรับภาพนี้ ไคลิยูถ่ายไว้เมื่อกุมภาพันธ์ ปี 2014 |
|||
อีกมุมของเครื่องเซิร์ฟเวอร์เครื่องแรกของโลก |
|||
ภาพ screenshot จากคอมพิวเตอร์ Next ที่กำลังเปิดใช้งานเบราว์เซอร์ WorldWideWeb เวอร์ชันดั้งเดิมของทิม เบอร์เนอร์ส-ลี นอกจากแสดงผล เบราว์เซอร์นี้สามารถใช้ปรับแต่งเว็บไซต์ได้ด้วย น่าเสียดายที่สามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการ NextStep เท่านั้น |
|||
ป้าย “เครื่องนี้คือเซิร์ฟเวอร์ ห้ามปิด” ถูกติดไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของทิม เบอร์เนอร์ ลี โดยคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เป็นของบริษัท NEXT ของสตีฟ จ็อบส์ และป้ายนี้เป็นลายมือของทิม เบอร์เนอร์ ลี |
|||
โรเบิร์ต ไคลิยู พันธมิตรคนแรกของทิม เบอร์เนอร์ ลี กับผลงานในโครงการ World Wide Web ช่วงปี 1995 |
|||
เอกสารที่เผยแพร่ในวันที่ 30 เมษายน 1993 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เซิร์นเปิดตัว www ในฐานะโดเมนสาธารณะ |
|||
ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (ที่ 2 จากขวา แถวหน้า) พร้อมด้วยเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมให้กำเนิด “เวิลด์ ไวด์ เว็บ” เมื่อ 25 ปีก่อน ที่เซิร์น ร่วมถ่ายภาพกันในงานฉลองครบรอบ 20 ปีเวิลด์ ไวด์ เว็บ ซึ่งจัดขึ้นที่เซิร์น ใกล้กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2009 |
|||
เว็บไซต์แรกของโลกที่เซิร์นอนุรักษ์ “แอดเดรส” หรือที่อยู่เว็บไซต์ดั้งเดิมไว้ที่ http://info.cern.ch/hypertext/WWW/TheProject.html ***4 สถิติน่ารู้จากโลกออนไลน์*** 25 ปีผ่านไป วันนี้ประชากรอินเทอร์เน็ตโลกทะลุหลัก 2.9 พันล้านคนแล้ว โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก |
|||
เฉพาะในสหรัฐอเมริกา การสำรวจปี 1995 พบว่าชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 18 ปีในสหรัฐฯราว 14% คือผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ล่าสุดสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 87% แล้วในปัจจุบัน จำนวนเว็บไซต์นั้นเพิ่มขึ้นจาก 130 เว็บไซต์ในปี 1993 มาอยู่ที่ระดับมากกว่า 600 ล้านเว็บไซต์ในขณะนี้ เสิร์ชเอนจิ้นระดับโลกอย่างกูเกิล (Google) ที่ก่อตั้งในปี 1998 นั้นมีสัดส่วนถูกใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ครั้งต่อวันในปี 1998 มาเป็นมากกว่า 3 พันล้านครั้งในปี 2012. |
ที่มา: manager.co.th/CyberBiz