รวมบทความเกี่ยวกับ พลูโต (Pluto)

รวมบทความเกี่ยวกับ พลูโต (Pluto)

ว่าด้วยเรื่องของพลูโต (Pluto)

พลูโตเป็นดาวเคราะห์หรือไม่?
– ไม่เป็นครับ จากการประชุมของ IAU ในปี 2006 ได้ลงความเห็นกันว่าปัจจุบันพลูโตเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ ไม่ใช่ดาวเคราะห์ และนี่ก็ยังเป็นนิยามที่ใช้อยู่

แล้วทำไมตอนแรกถึงได้ให้พลูโตเป็นดาวเคราะห์?
– มีเหตุผลหลายอย่าง อย่างแรกคือ ก่อนหน้าพลูโต ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์ยูเรนัส และเนปจูนได้ไม่นาน คนทั่วไปจึงพยายามที่จะหา “ดาวเคราะห์ดวงที่เก้า” และเมื่อเจอพลูโต ก็เลยคิดว่านี่คือดาวเคราะห์ที่กำลังหาอยู่ บวกกับการคาดคะเนขนาดผิดพลาด (ดาวพลูโตสว่างมาก ซึ่งตอนแรกนักดาราศาสตร์เข้าใจว่าเป็นเพราะว่ามันต้องใหญ่มาก จนมาพบเอาภายหลังว่าที่แท้จริงแล้วดาวพลูโต “ขาว” มากต่างหาก) ทำให้เราเรียกพลูโตว่าดาวเคราะห์ตั้งแต่นั้นมา

แล้วทำไม IAU ถึงต้องไปเปลี่ยนให้ไม่ใช่ดาวเคราะห์?
– ปัญหาที่แท้จริงของพลูโต ไม่ใช่เป็นเพราะดาวพลูโตเอง แต่มาจากการค้นพบดาวเคราะห์แคระดวงอื่นในระบบสุริยะ เช่น Ceres Eris Haumae Makemake Sedna ฯลฯ ซึ่งบางดวงมีขนาดใกล้เคียง หรือใหญ่กว่าพลูโตด้วยซ้ำ (ในกรณีของ Eris) ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ควรจะเป็นดาวเคราะห์ด้วยหรือไม่? ซึ่งหากพลูโตเป็นดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ก็ควรจะเป็นดาวเคราะห์ด้วย และเราจะมีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะหลายสิบ หรือหลายร้อยดวง หรือเราก็ไม่ให้ดาวเหล่านี้เป็นดาวเคราะห์เลย และแยกเป็นอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ดาวเคราะห์แคระ” ซึ่งทางเลือกที่สองเป็นทางที่ IAU เลือกใช้ไปในปี 2006

ทำไมดาวพลูโตจึงไม่ใช่ดาวเคราะห์ตามนิยามของ IAU ในปี 2006?
– IAU นิยามว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะต้องมีคุณสมบัติสามประการ นั่นคือ
1. ต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์
2. มีมวลมากพอที่จะมีรูปร่างคล้ายทรงกลม
3. ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในวงโคจร
ซึ่งดาวพลูโตได้ผ่านเงื่อนไขสองข้อแรก แต่ไม่ผ่านในข้อที่ 3 IAU จึงได้นิยามดาวเคราะห์แคระขึ้นใหม่ โดยเป็นดาวที่ผ่านเงื่อนไขทั้งสองข้อแรก รวมกับดาวแคราะห์แคระอื่นรวมทั้งสิ้น 5 ดวง นั่นคือ Ceres Pluto Haumae Makemake Eris

ข่าวบอกว่าพลูโตกลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง แล้วสรุปว่าดาวพลูโตกลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้งหนึ่งหรือไม่? เกิดอะไรขึ้น?
– ไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics ได้จัดการเสวนาขึ้น โดยนักดาราศาสตร์สามคนได้ถกเถียงกันเรื่องของนิยามของดาวเคราะห์ที่ควรจะเป็น และได้ลองให้ผู้ชมได้ทำการโหวตดูว่านิยามใดที่เขาชื่นชอบที่สุด ผลก็คือคะแนนเสียงว่า “ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์” ได้รับความนิยมมากที่สุด

สรุปว่าพลูโตเป็นดาวเคราะห์?
– ไม่ใช่ อย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเสวนา และการโหวตลงคะแนนกันของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในห้องเสวนา สิ่งนี้อาจเปรียบได้กับนักเรียนโรงเรียนหนึ่งตัดสินใจลงคะแนนโหวต แล้วตกลงกันว่าจะเรียกสุนัขว่าเป็นสัตว์ปีก โดยที่ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น ผลจากการโหวตดาวพลูโตนี้ไม่ได้รับการยอมรับโดย IAU จึงเป็นเพียงคำพูดปากเปล่า และปัจจุบันนิยามสากลที่ตกลงกันก็คือนิยามของ IAU ที่นิยามเอาไว้เมื่อปี 2006 นั่นคือดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ และไม่ใช่ดาวเคราะห์ จนกว่า IAU จะมีการนิยามดาวเคราะห์เสียใหม่
ที่มา : 

—————————————————————————————————————————————–

มารู้จักกับพลูโต (Pluto) คร่าวๆ กัน พลูโต (Pluto) ถูกค้นพบปี ค.ศ. 1930 ตอนนี้รู้แล้วว่ามันขนาดเส้นผ่าแค่ 2370 กม. ขณะที่ดวงจันทร์แชรอนของมัน ขนาดราวครึ่งนึง และอีก 4 ดวงจันทร์ขนาดแค่ 20-80 กม. (จิ๋วมาก)

pluto

ราว 10 ปีก่อน ยาน Voyager 1 สามารถจะแวะไปถ่ายรูปมันได้ (ยานนี้แหล่ะ ทำให้เราเห็นดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ชัดๆ เป็นครั้งแรกของโลก) แต่คนบังคับที่นาซ่าเลือกไปสำรวจไททั่น (ดวงจันทร์ดาวเสาร์) แทน
มวลของพลูโต (Pluto) นั้นแค่ราว 1/6 ของดวงจันทร์ของโลกเรา มันใช้เวลา 248 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ วงโคจรทำมุมเอียงๆทั้งนี้ ไม่กี่ปีก่อน กล้องยักษ์ฮับเบิ้ลนอกโลก วิเคราะห์ดาวพลูโตโดยใช้ spectrometer พบว่าชั้นบรรยากาศอันเบาบางของมันประกอบไปด้วยก๊าซไนโตรเจน (เหมือนโลกเรา) มีเธน และ CO แต่เบาบางขนาดว่า ความดันบรรยากาศบนผิวต่ำกว่าโลกราวแสนเท่า จากข้อมูลฮับเบิ้ล คาดกันว่าผิวดาวประกอบไปด้วยน้ำแข็งไนโตรเจนในชั้นบน น้ำแข็ง H2O ในชั้นต่อไป และชั้นหินในชั้นแกนดาว เนื่องจากโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี เมื่อไกลสุด จะหนาวมากจนก๊าซไนโตรเจนแข็งตัวและตกลงบนผิวดาว (เหมือนหิมะตก) นักวิทย์ยังคาดการว่าลึกลงไป 100-180 กม. อาจมีมหาสมุทรน้ำ H2O ได้
ทั้งนี้ การที่มีก๊าซมีเธน บนดาวนั้น บ่งบอกให้เห็นว่า อาจมีสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับ ไททั่น และ ยูโรป้า (ดวงจันทร์ดาวพฤหัส) หุ่น Curiosity ของนาซ่าทุกวันนี้บนดาวอังคารก็หาหลักฐานก๊าซมีเธนเพื่อบ่งบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตได้ในอดีต เพราะในอดีตดาวอังคารนั้นมีน้ำไหลแน่นอน แต่พลูโตนั้นไกลจากดวงอาทิตย์มากๆๆๆ จึงไม่มีน้ำ H2O บนดาว (แต่อาจมีลึกลงไปใต้พิภพ เช่นเดียวกับยูโรป้า)
ทั้งนี้ การที่ยาน New Horizons จะบินใกล้มากในวันนี้ จะใช้เวลา 24 ชม. ในการเก็บข้อมูลหลายๆ อย่างที่จะทำให้เรารู้ชัดเรื่องพวกนี้มากกว่ากล้องฮับเบิ้ลยิ่งนัก แต่กว่าข้อมูลธรณีและเคมีจะส่งมาโลกหมดจะใช้เวลาราว 16 เดือน
ดร. ไพโรจน์ ฉัตรอนันทเวช
ที่มา: https://www.facebook.com/tsunamithailandCaltech

—————————————————————————————————————————————–

1. ดาวพลูโตถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1930 (85 ปีที่แล้ว) โดย ไคลด์ ทอมบอ (Clyde W. Tombaugh) ที่หอดูดาวในรัฐอริโซน่า ตอนนั้นเขาอายุแค่ 24 ปี
2. นาซ่านำเถ้าอังคารของเขาส่วนหนึ่งติดด้านหน้ายาน New Horizons ไปด้วย ตามคำขอก่อนตายของเขา และเพื่อให้เขาเป็นคนแรกที่ได้เห็นดาวเคราะห์ที่เขาเป็นผู้ค้นพบ
3. ดาวพลูโตมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลก 1,108 ก.ม.
4. เส้นผ่านศูนย์กลางของพลูโตคือ 2,370 ก.ม. หรือถ้าบินเป็นเส้นตรงก็ประมาณดอนเมืองไปเชียงใหม่ x 4
5. รูปเทียบขนาดโลกกับดาวพลูโต ส่วนดวงเล็กนั่นคือ คารอน (Charon) ดวงจันทร์ที่ใหญ่สุดของพลูโต
6. ดาวพลูโตใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์รอบละ 248 ปี
7. ระยะใกล้สุดที่ยาน New Horizons เจอกับดาวพลูโต คือ 12,500 ก.ม. (ตึกใบหยกต่อกัน 41,120 ตึก)
8. พลูโตถูกลดชั้นให้เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระ และถูกเฉดหัวออกจากครอบครัวระบบสุริยะเมื่อปี 2006โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ด้วยเหตุผลว่ามันมีมวลน้อยเกินกว่าจะเป็นทรงกลมด้วยแรงโน้มถ่วงของตัวเอง และพบดาวอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโตที่ขอบระบบสุริยะ

พลูโต pluto

“ขั้นตอนการส่งรูปจากดาวพลูโต (Pluto) ”
1. เขาไม่ได้ส่งยานไปถ่ายรูปเล่นอย่างเดียว ยาน New Horizons มีอุปกรณ์ทั้งหมด 7 ชิ้น แต่ละชิ้นเก็บข้อมูลต่างประเภทไป เช่นรังสี คลื่นลมสุริยะ ฯลฯ
2. เครื่องมือทุกชิ้นจะช่วยกันสแกนภาพและเก็บข้อมูลให้ได้เยอะที่สุดก่อน จากนั้นค่อยแปลงข้อมูลและภาพเป็นสัญญาณ 0101010101010
3. แปลงเสร็จ ยานก็จะยิงสัญญาณ 01010 ด้วยคลื่นวิทยุมายังโลก ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงครึ่ง
4. จานรับสัญญาณบนโลกขนาดใหญ่มาก (เส้นผ่านศูนย์กลาง 70 เมตร) อยู่ที่ศูนย์รับสัญญาณอวกาศระดับลึก (CSIRO) ที่แคนเบอร่า ออสเตรเลีย
5. แต่สัญญาณเดินทางมา 4,280 ล้านกิโลเมตร มันจึงอ่อนแรงมาก อ่อนกว่าถ่านนาฬิกาประมาณ 2 หมื่นล้านเท่า ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการขยายสัญญาณที่ได้
6. สัญญาณที่ถูกขยายแล้ว จะถูกแปลงกลับเป็น 01010101 อีกครั้ง จากนั้นจึงส่งต่อให้นาซ่า
7. น่าซ่าจะแปลงสัญญาณ 0101010101010 เป็นรูปภาพ
8. รูปภาพและข้อมูลที่นอกเหนือจากนั้น ถูกส่งต่อไปให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานต่อไป

http://csironewsblog.com/2015/07/14/how-to-send-a-photo-from-pluto-and-8-other-cool-new-horizon-facts/

—————————————————————————————————————————————–

เกี่ยวกับยานสำรวจอวกาศ New Horizons

1. ยานถูกปล่อยในเดือนมกราคม 2006 มันวิ่งด้วยความเร็ว 58,536กม/ชม. (วินาทีละ 16.26 ก.ม.) เป็นยานที่วิ่งเร็วสุดตั้งแต่เคยมีมา โดยใช้เวลาจากโลกไปดวงจันทร์แค่ 9 ชั่วโมง (ตอนไปเหยียบดวงจันทร์ด้วยอพอลโล 11 ใช้เวลาเดินทาง 3 วัน) และเมื่อมันบินผ่านดาวพฤหัสในปี 2007 แรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสก็ช่วยถีบยานให้เร็วขึ้นไปอีก 14,500 กม./ชม. รวมเป็น 83,700 กม/ชม.

2. นิวเคลียร์ (แทางสีดำในภาพ) เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าของอุปกรณ์ในยาน ส่วนฟอยล์สีทองที่หุ้มตัวยานทำหน้าที่ควบคุมความร้อนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องให้คงที่ แต่การขับเคลื่อนยานไม่ได้มาจากพลังนิวเคลียร์ จนบัดนี้ยาน New Horizons ยังคงขับเคลื่อนด้วยแรงส่งตอนปล่อยจากพื้นโลกบวกกับแรงถีบจากดาวพฤหัส

3. หลังจากพ้นดาวพฤหัสเมื่อปี 2007 เขาก็ปิดเครื่องมันไปห้าปี แล้วมาตื่นเอาเมื่อต้นธันวาปีที่แล้ว เพื่อภารกิจพลูโต สรุปว่า 2/3 ของ 9 ปีที่ผ่านมา มันหมดไปกับจำศีลเพื่อประหยัดพลังงานและกันเครื่องรวน และที่ไม่เน้นสำรวจดาวดวงอื่นระหว่างทางเพราะ New Horizons โฟกัสแค่พลูโตลงไป ส่วนดาวดวงอื่นเขาก็มียานตัวอื่นทำหน้าที่โดยเฉพาะอยู่แล้ว

4. ตอนนี้เราได้เห็นรูปดาวพลูโตกันแล้ว แต่ยังมีข้อมูลสำคัญอีกมากมายที่ยานส่งมาให้และนาซ่ายังโหลดไม่หมด (ข้อมูลมันเดินทางไกลและแปลงสัญญาณนาน) ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 16 เดือนต่อจากนี้ จากนั้นมันจะหลุดออกนอกระบบสุริยะในปี 2019 แต่จะปิดจ๊อบจริงๆ ปี 2026

5. ยานมีอุปกรณ์สำคัญ 7 ตัว ทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างกันไป หนึ่งในนั้นชื่อ SDC (Student Dust Counter) ที่เป็นงานกลุ่มของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคโรราโด ทั้งออกแบบและควบคุม งานนักเรียนอ่ะแก! เก่งเนอะ เครื่องมือนี้ทำหน้าที่วิเคราะห์ฝุ่นที่เกาะตัวยานขณะเดินทาง

ที่มา :

—————————————————————————————————————————————–

Clyde Tombaugh เป็นมนุษย์คนแรกที่เคยไปเยือนดาวเคราะห์แคระพลูโต (หรืออย่างน้อยก็เถ้ากระดูกของเขา)

10411065_369059753304237_2882677286680856841_n

เราทุกคนที่กำลังอ่านข้อความนี้ กำลังอาศัยอยู่ในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคนที่แล้ว นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน Clyde Tombaugh ได้ค้นพบดาวเคราะห์ที่ไม่มีใครทราบมาก่อนว่ามีอยู่จริง และจนถึงวันนี้ เราสามารถสร้างยานอวกาศที่เดินทางไปเยือนโลกอันห่างไกลที่สุดที่เราเคยรู้จัก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงในชั่วอายุคนเดียวเท่านั้น

ดาวพลูโต (ปัจจุบันเป็นดาวเคราะห์แคระ ตามนิยามใหม่ของ IAU อ่านเพิ่มเติมได้ว่าทำไม ที่นี่ https://goo.gl/bPwSOF) ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน Clyde Tombaugh ไปเมื่อปี ค.ศ. 1930 จาก Lowell Observatory ขณะที่เขามีอายุเพียง 23 ปี และดาวดวงใหม่นี้ ถูกจดจำในชื่อของ “ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ” อยู่นานถึง 62 ปี ก่อนที่นิยามดาวเคราะห์ใหม่จะจำแนกดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงอันโด่งดังของดาวพลูโตได้ลดลงแต่อย่างใดเลย

ดาวพลูโตเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุด วัตถุหนึ่ง ที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นวัตถุในแถบ Kuiper Belt ที่ใหญ่ที่สุด ที่ระยะห่าง 4.4–7.3 พันล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์นี้ ทำให้ดาวเคราะห์แคระพลูโตเป็นโลกน้ำแข็งที่ไร้ซึ่งชีวิตอันแสนห่างไกล

การศึกษาดาวเคราะห์แคระพลูโต จะช่วยไขความลับเกี่ยวกับ Trans-Neptunian Objects ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความหลงใหล และพยายามที่จะส่งยานไปสำรวจดาวพลูโตเสมอมา และหลังจากการวางแผนกว่า 15 ปี องค์การอวกาศนาซ่าจึงได้มีการยิงยานสำรวจ New Horizons เพื่อไปศึกษาดาวพลูโตในปี ค.ศ. 2006

ด้วยระยะทางที่ไกลมหาศาลจากโลก การส่งยานอวกาศไปยังดาวที่ห่างไกลนี้จึงเป็นความยากลำบากอย่างมาก ยานสำรวจอวกาศ New Horizons เป็นวัตถุที่ถูกยิงออกจากโลกด้วยความเร็วสูงที่สุด ด้วยความเร็วเริ่มต้น 16.26 กม./วินาที และใช้เวลากว่า 9 ปีในการเดินทางมายังดาวพลูโต โดยแวะผ่านดาวพฤหัสเพื่อใช้แรงโน้มถ่วงในการดีดตัวไปยังระบบสุริยะชั้นนอก

และในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เวลา 18:49 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย ยานสำรวจอวกาศ New Horizons นี้ ก็ได้โฉบผ่านดาวเคราะห์แคระพลูโตไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยระยะห่างจากดาวพลูโตเพียง 12,500 กม. หลังจากที่ได้เดินทางผ่านห้วงอวกาศมาเป็นระยะทางกว่า 5 พันล้านกม.

ภารกิจของยานสำรวจอวกาศ New Horizons ก็คือการศึกษาดาวพลูโต ดาวบริวารของพลูโต การค้นหาบรรยากาศหรือวงแหวนที่อาจจะล้อมรอบดาวพลูโต การศึกษาทางธรณีวิทยา การค้นหาองค์ประกอบและที่มาของวัตถุ Trans Neptunian เหล่านี้ รวมไปถึงการบันทึกภาพดาวเคราะห์แคระที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยเห็นมาก่อนนี้เป็นครั้งแรก ภายในเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา เราก็ได้ภาพ และทราบอะไรเกี่ยวกับดาวพลูโตมากกว่าที่เราเคยศึกษามาตลอดเวลากว่า 85 ปีนับตั้งแต่การค้นพบ และเราจะทราบอะไรอีกมากเมื่อข้อมูลของการโฉบผ่านได้ส่งมาถึงโลก และนำไปวิเคราะห์โดยนักดาราศาสตร์

และเพื่อเป็นเกียรติแก่ Clyde Tombaugh ผู้ค้นพบดาวพลูโต ยานสำรวจอวกาศ New Horizons จึงได้นำเอาเถ้ากระดูกส่วนหนึ่งของ Clyde Tombaugh ติดไปกับยานด้วย นี่ไม่เพียงแต่ทำให้ Clyde Tombaugh เป็นมนุษย์เพียงคนเดียวที่เคยไปเยือนโลกอันแสนห่างไกลนี้ แต่ยังทำให้เถ้ากระดูกของเขาเป็นชิ้นส่วนของมนุษย์ที่เคยเดินทางออกมาห่างไกลจากโลกของเรามากที่สุด อีกด้วย

ซ้าย: กล่องบรรจุเถ้ากระดูกของ Clyde Tombaugh
ขวา: ดาวเคราะห์แคระพลูโตที่ถ่ายโดย New Horizons เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558
บทความโดย มติพล ตั้งมติธรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม http://pluto.jhuapl.edu/

ที่มาภาพ :

 

Tagged on: