พัฒนาการเด็ก: การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี

การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ในมุมมองของนักจิตวิทยา (คนนี้)

พัฒนาการเด็ก: การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี

พัฒนาการเด็ก: การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี

ในมุมมองของตนเองมีความเชื่อว่า “ร่างกายที่พร้อม เท่ากับฐานที่มั่นคง เมื่อมีฐานที่มั่นคง เด็กจะเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน


ไม่มีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเรียนรู้ เพราะเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
เราต้องเชื่อว่า “เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ แต่จะช้าเร็ว หรือด้วยวิธีใด อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง”

ดังนั้น ก่อนจะเริ่มใส่เนื้อหาให้กับเด็กๆ เราควรควรเริ่มจาการปูพื้นฐานในช่วงปฐมวัยก่อน (0-6 ปี)

ข้อที่ 1 “เด็กคนหนึ่งจะเรียนรู้ได้ดี ต้องมีร่างกายที่พร้อมก่อนเสมอ”

ผู้ใหญ่จึงควรส่งเสริมเรื่อง ร่างกายและการช่วยเหลือตัวเองเป็นสำคัญ ก่อนจะกังวลเรื่องของการเขียนการอ่าน กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ตามวัย ซึ่งเกิดจากการเล่นอย่างเต็มที่ ขา-เท้า เดิน วิ่ง กระโดดขาคู่ ขาเดียว ไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แขนแกว่งไกว ปีนป่ายอย่างคล่องแคล่ว มือกำ หยิบ จับ โยน ขว้าง อย่างแม่นยำ นิ้วมือทั้งสิบ หยิบ หนีบ กด ฉีก ตัด อย่างแข็งแรง

***เด็กปฐมวัยควรเล่นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน

เมื่อร่างกายพร้อม เขาจะสามารถเขียนได้อย่างทนทาน มีสมาธิจดจ่อฟังในสิ่งที่เราสอน จดจำตัวอักษรซึ่งนำไปสู่การอ่านได้อย่างดี
แม้จะเริ่มอ่านเขียนช้ากว่าเด็กที่เร่งเรียน แต่เด็กที่ฐานแน่นจะมั่นคงและเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน
**********

ข้อที่ 2 การช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care)

ไม่มีประโยชน์อันใด หากเด็กท่อง ก-ฮ ได้ แต่เขากินข้าวเองไม่เป็น เพราะความมั่นใจในตนเองมีรากมาจาก การรับรู้ความสามารถในร่างกายของตัวเอง “ฉันสามารถทำสิ่งนี้ด้วยตัวเองได้ ฉันสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ผู้อื่นมาทำให้ฉัน” ดังนั้นเมื่อฉันอยู่ที่ไหน ฉันก็สามารถทำได้ ทักษะการช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรทำได้ก่อนพ้นวัย 6 ปีไป ได้แก่ หยิบจับอาหารเข้าปาก และใช้ช้อน-ส้อมได้ตามวัย ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ติดกระดุม รูดซิป ตามวัย และการควบคุมการขับถ่ายเมื่อพร้อม
**********

ข้อที่ 3 การควบคุมตนเอง (Self-regulation)

เมื่อร่างกายแข็งแรง และควบคุมร่างกายได้สมวัย เขาจะมีความมั่นใจที่จะเรียนรู้หรือลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญเมื่อควบคุมร่างกายได้ เขาจะเริ่มควบคุมการกระทำของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การมีสมาธิจดจ่อตามวัยได้ในที่สุด

เมื่อร่างกายพร้อมจึงจะสอนสิ่งอื่นๆ
ดังนั้นในเด็กปฐมวัย ควรได้เน้นเรื่อง “การเตรียมพร้อมร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่)” ผ่านการเล่นให้เพียงพอ และเน้นเรื่อง “การช่วยเหลือตัวเองตามวัย” ผ่านการให้เด็กลงมือทำให้มากที่สุด ชะลอการช่วยเหลือ และส่งเสริมให้เด็กได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ใหม่ๆ เสมอ อย่ากลัวเลอะ หรือเร่งให้เขาทำให้เสร็จทันใจเรา
**********

ข้อที่ 4 เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบและลงมือทำ

เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการได้ดีที่สุดจากการได้ดูตัวแบบในชีวิตจริง และการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติไปพร้อมกับเขา ไม่ใช่ผ่านการฟัง หรือจากการดูในสื่อหน้าจอต่างๆ

ดังนั้น แม้หน้าจอจะมีเนื้อหามากมาย แต่ความสำคัญในเวลานี้ไม่ใช่เนื้อหาในหน้าจอ แต่เป็นการลงมือทำในชีวิตจริง เด็กจะมีสมาธิ และจดจ่อได้ดีกว่า เมื่อเขาได้ลงมือทำกับผู้ใหญ่

ที่สำคัญ การดูหน้าจอในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี มักจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ได้รับมา เช่น พฤติกรรมการติดหน้าจอ สมาธิที่ลดน้อยลง และอารมณ์ที่ไม่มั่นคง สาเหตุมาจาก “สมองส่วนหน้า (Pre-frontal cortex)” ของเด็กวัยนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ สมองส่วนนี้ควบคุมเรื่องของการควบคุมตัวเอง (Self-regulation) ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการควบคุมตัวเองในเด็กเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มจะติดหน้าจอได้มากกว่าผู้ใหญ่ เขาห้ามตัวเองได้ยากกว่าเรา
**********

ข้อที่ 5 ทักษะการเล่นด้วยตัวเอง

เด็กๆ ควรเล่นหรือ entertain ตัวเองเป็น และใช้เวลาอยู่กับตัวเองได้บ้าง การเล่นด้วยตัวเอง คือ การเล่นที่มีผู้ใหญ่คอยสอดส่อง แต่ไม่มีความจำเป็นต้องลงไปเล่นกับเขา

เด็กที่สามารถเล่นกับตัวเองได้ เริ่มที่วัย 2 ปีขึ้นไป

  • 2 ปีจะเล่นกับตัวเองได้ที่ขั้นต่ำ 4 นาที มากที่สุดคือ 8-10 นาที หรือมากกว่านั้น
  • 3 ปีจะเล่นกับตัวเองได้ที่ขั้นต่ำ 6 นาที มากที่สุดคือ 15 นาที หรือมากกว่านั้น
  • 4 ปีจะเล่นกับตัวเองได้ที่ขั้นต่ำ 8 นาที มากที่สุดคือ 20 นาที หรือมากกว่านั้น
  • 5 ปีจะเล่นกับตัวเองได้ที่ขั้นต่ำ 10 นาที มากที่สุดคือ 25 นาที หรือมากกว่านั้น
  • 6 ปีจะเล่นกับตัวเองได้ที่ขั้นต่ำ 12 นาที มากที่สุดคือ 30 นาที หรือมากกว่านั้น

ในเด็กเล็ก เราควรเล่นกับลูกให้มากที่สุด เพื่อให้เขาเก็บเกี่ยวทักษะการเล่นต่างๆ ยิ่งเล่นเยอะ ลูกยิ่งมีทักษะการเล่นที่หลากหลาย

การเล่นที่เด็กสามารถเล่นได้นาน ได้แก่ การเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นสี เล่นเลอะเทอะ ผสมของ เล่นทำกับข้าว และอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ต้องไม่ใช่การเล่นกับหน้าจอ เพราะการเล่นกับหน้าจอเด็กไม่ต้องใช้ความพยายามในการคิดสร้างสรรค์การเล่นใดๆ หน้าจอเป็นผู้คิดให้หมด เขาเป็นฝ่ายรับอยู่อย่างเดียว

ทักษะการเล่นกับตัวเอง มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างเด็กให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีทักษะการแก้ปัญหาอย่างดีเยี่ยม ถ้าเป็นไปได้

นอกจากเล่นกับลูกแล้ว พ่อแม่ควรเริ่มจากให้เด็กเล่นด้วยตัวเอง โดยมีเราอยู่ในสายตาห่างๆ และงดพูดห้าม หรือ แทรกแซงการเล่นของเด็ก เราควรตั้งกติกาให้ชัดเจนเพื่อกำหนดขอบเขตการเล่นไว้เบื้องต้น กติกาที่แนะนำ คือ กฏ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ และเราสามารถกำหนดได้ว่า การเล่นนี้จะเกิดขึ้นที่ไหน ให้ใช้ของอะไรได้บ้าง ที่สำคัญควรกำหนดเวลาไว้ว่า ลูกจะเล่นตรงนี้นานเท่าไหร่ เราสามารถคาดคะเนจากความสามารถของลูกเราได้ตามอายุ และความสามารถจากที่ผ่านมา

***สมาธิและความสามารถในการอดทนรอคอยของเด็กจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
ระยะเวลาขั้นต่ำ = อายุ x 2 (อายุเด็ก คูณ 2)
ระยะเวลาสูงสุด = อายุ x 5 (อายุเด็ก คูณ 5)
จึงไม่น่าเเปลกใจที่การนั่งเรียนในห้องเรียน โดยให้อยู่กับที่เป็นเวลานาน ทำให้เด็กเล็กอึดอัดและคับข้องใจเป็นที่สุด เพราะเรากำลังคาดหวังเขาเกินวัย ในเด็กโตขึ้นมาหน่อย ที่อยู่ได้นานถึง 20 นาที เราสามารถทำกิจกรรมเวียนฐาน ให้เด็กๆ ไปทำกิจกรรมในแต่ละโต๊ะแล้วเวียนฐานไปเรื่อยๆ จะทำให้เด็กไม่เบื่อ และสามารถทำได้จนครบทุกกิจกรรม
**********

ข้อที่ 6 ทักษะการสื่อสาร การพูดและการฟัง

“การพูดสื่อสาร” เด็กเล็ก ควรเรียนรู้การสื่อสารอย่างเหมาะสม…
“บอกความต้องการ” “บอกปฏิเสธ” และ “ขอความช่วยเหลือ” เมื่อทำไม่ได้ด้วยตนเอง
ถ้าเด็กยังไม่พูด เราสามารถให้เขาพาเราไปดู ชี้บอก หรือ ใช้ภาษากายช่วยสื่อสารได้ เพื่อลดความคับข้องใจ

ในเด็กที่สื่อสารไม่ได้ จะนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น ร้องไห้ กรีดร้อง และอื่น ดังนั้นยิ่งเราสอนเขาให้สื่อสารอย่างเหมาะสมเท่าไหร่ เด็กจะลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงไปเท่านั้น

“การฟัง”
ฟังแล้วตอบสนองต่อคำสั่ง หรือ สื่อสารกลับมา

  • เด็กวัย 1-2 ปีขึ้นไป ควรเข้าใจคำสั่งอย่างง่าย 1 คำสั่งง่ายๆ เช่น กิน หม่ำๆ ยิ้ม มาๆ เป็นต้น
  • เด็กวัย 2-2.6 ปีขึ้นไป ควรเข้าใจคำสั่งอย่างง่าย 2 ขั้นตอน เช่น แม่อยู่ไหน? (ให้เขาชี้บุคคล) นกอยู่ไหน? (ชี้ในหนังสือ) มาหาแม่ เป็นต้น
  • เด็กวัย 2.6-3 ปีขึ้นไป ควรเข้าใจคำสั่งอย่างง่าย 2 ขั้นตอนที่ไม่เกี่ยวกัน เช่น เอาบอลมาให้แม่ ป้อนข้าวน้องตุ๊กตา อันไหนใหญ่? ใครอยู่ที่ไหน? เป็นต้น
  • เด็กวัย 3 ปีขึ้นไป เข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนขึ้น การให้เด็กทำกิจกรรมต่อเนื่อง 2-3 ขั้นตอน เช่น เดินไปหยิบบอลกลับมาใส่ตระกร้า เอาผ้าไปหนีบบนราวตากผ้า เป็นต้น เริ่มมีการต่อรอง แต่ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
  • เด็กวัย 4-5 เด็กเริ่มเข้าใจเหตุผล เริ่มประนีประนอมกับเพื่อน เพราะเขาอยากเล่นกับคนอื่น ต่อรองเก่งขึ้น เขาจะเริ่มนับเลขและเข้าใจจำนวนในช่วงวัยนี้ เด็กที่ทราบจำนวน จึงจะเข้าใจว่า เลข 1 ต่างกับ เลข 2 เพราะ 1 มีจำนวนแต่ 1 อัน ส่วน 2 มีจำนวนมากกว่าจึงมาทีหลัง ไม่ใช่การนับเลขแบบท่องจำเหมือนช่วงวัยที่ผ่านมาอีกต่อไป
  • เด็กวัย 6 ปี เด็กเริ่มใช้เหตุผลกับผู้อื่น เริ่มเข้าใจลำดับ อะไรเกิดก่อนหลัง รู้จักและจำพยัญชนะได้ เข้าใจสัญลักษณ์ว่าเป็นตัวแทนของอะไร

ดังนั้น การให้เด็กเร่งท่องตัวอักษร หรือ เร่งให้เขียนก่อนวัย เราจะพลาดโอกาสในการเติมฐานในเรื่องของการเข้าใจ และการสื่อสารของเด็กไป เพราะเด็กจะรับสารทางเดียว และพัฒนาเพียงการท่องจำ แต่เขาไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

***การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง คือ การส่งเสริมทักษะการฟังและเพิ่มคลังคำศัพท์ให้เด็กๆ อย่างมากมาย
**********

ข้อที่ 7 เรียนรู้เรื่องอารมณ์

เด็กปฐมวัย สามารถเริ่มเรียนรู้อารมณ์ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เศร้า มีความสุข ได้ตั้งแต่เขาเริ่มสื่อสาร และจะเรียนรู้อารมณ์ต่างๆ ที่ละเอียดขึ้นในวัยต่อๆ มา ยิ่งเด็กได้เรียนรู้ว่า “ตนเองนั้นรู้สึกอย่างไรอยู่” จะนำไปสู่การเข้าใจตนเอง และการแสดงออกที่เหมาะสมมากขึ้น
เราสามารถสอนเรื่องอารมณ์ในเด็กผ่านการแสดงสีหน้า หรือ เล่นบทบาทสมมติกับเขา
**********

ข้อที่ 8 การทำงานบ้าน

ไม่มีงานใด สอนเด็กได้ดีกว่า “งานบ้าน” เพราะงานบ้านได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ และการรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ก่อนเด็กจะได้การบ้าน เด็กๆ ควรได้รับงานบ้านก่อน เด็กที่รับผิดชอบต่องานบ้านได้ เขาจะสามารถรับผิดชอบต่องานอื่นๆ ได้อย่างสบายๆ
**********

ข้อที่ 9 ความพยายามและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

สุดท้าย แม้เด็กจะเรียนรู้ได้เร็ว แต่ถ้าเจออุปสรรค แล้วไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ เด็กบางคนเลือกที่จะยอมแพ้ทันที ดังนั้นการสอนเด็กให้พยายามและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตลอดไป

เราสามารถสร้างทัศนคตินี้ได้ โดยการที่…
(1) ชื่นชมที่ความตั้งใจของเด็กมากกว่าผลลัพธ์ที่ออกมา
(2) แพ้ชนะไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาได้เรียนรู้อะไรในตอนท้าย หรือ เขาทำอะไรได้มากขึ้น
(3) อย่าประเมินเด็กเพื่อวัดลำดับที่ แต่ให้ประเมินเพื่อจะเติมเต็มเขา ผลแคะแนนและเกรดไม่ควรสำคัญเท่ากับว่า เด็กคนนี้ทำอะไรได้ และมีอะไรที่เราสามารถเติมเต็มให้เขาได้
(4) ไม่เปรียบเทียบเด็กกับใคร เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทุกคนมีข้อดีของตัวเอง
(5) การสอบหรือการแข่งขัน ควรทำเมื่อเด็กพร้อม หรือ เขาเป็นคนขอให้เราพาเขาไป ไม่ใช่เราพาเขาไปเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของเรา เด็กไม่ใช่ผลผลิตของผู้ใหญ่ เราไม่ใช่เจ้าของเขา และเราไม่ควรคาดหวังให้เขาเป็นตัวแทนของเราด้วย

อย่าสร้างทัศคติทางลบ โดยให้เด็กรับรู้ความล้มเหลวในช่วงปฐมวัย ไม่มีเด็กคนใดที่ควรโดนตัดสินว่า เขาดีหรือไม่ดีพอ ผ่านความคาดหวังของผู้ใหญ่เพียงกลุ่มเดียว
**********

สุดท้าย เด็กปฐมวัยทุกคน ควรได้รับความรักจากผู้เลี้ยงดูที่รักเขาอย่างปราศจากเงื่อนไข รักเขาในแบบที่เขาเป็น และเตรียมความพร้อมให้เขาสำหรับการเรียนรู้ในขั้นที่สูงขึ้นไป ไม่ใช่เร่งเขาให้เรียนรู้ก่อนวัย และกลัวหรือไม่อยากเรียนรู้ในอนาคต

มาช่วยกันสร้างเด็ก ๆ ที่รักการเรียนรู้กันนะคะ หวังว่า บทความนี้จะส่งเสียงไปถึงผู้ใหญ่ทุกคน “ขอให้เด็กทุกคนได้เป็นเด็ก”

ด้วยรักจากใจ
เม
เพจตามใจนักจิตวิทยา

ป.ล. ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านใดเป็นกังวลว่า ลูกเราอาจจะต้องเรียนรู้ในแบบเฉพาะของเขา เราสามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อช่วยแนะแนวทางในการเรียนรู้ให้กับลูกได้ เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ แต่วิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ดูน้อยลง

ที่มา www.facebook.com/followpsychologist/photos/a.199391690853593/671789946947096/