ศิลปะคืออะไร? สุนทรียศาสตร์ความงาม (Aesthetics)
“ความงามขั้นเอกอุ (The Hardcore of Beauty)”
ปีเตอร์ ซุมตอร์
สองสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ฟังรายการวิทยุที่ว่าด้วยกวีอเมริกันนาม วิลเลี่ยม คาร์ลอส วิลเลี่ยมส์ (William Carlos Williams) รายการนี้ใช้ชื่อว่า “ความงามขั้นเอกอุ (The Hardcore of Beauty)” ชื่อที่ว่านี้สะดุดใจผมอย่างแรง
ผมชอบความคิดที่ว่าความงามนั้นมีลำดับชั้นถึงขั้นเอกอุ และเมื่อผมคิดถึงสถาปัตยกรรม การเชื่อมโยงระหว่างความงามและลำดับขั้นอันเอกอุก็ดูจะมีอยู่จริง คำพูดของวิลเลี่ยมที่ว่า “เครื่องจักรกลเป็นสิ่งที่ไม่มีชิ้นส่วนอันฟุ่มเฟือยเลย” นั้นผมเข้าใจได้เป็นอย่างดี มันเป็นความคิดเช่นเดียวกันกับของปีเตอร์ ฮังเก้ (Peter Handke) กวีชาวออสเตรียเมื่อเขาบอกว่าความงามนั้นมีอยู่ในธรรมชาติ ในสิ่งที่งอกงามซึ่งไม่มีความหมายหรือสัญลักษณ์ใดเฉพาะเจาะจง ซึ่งทั้งที่เขากล่าวเช่นนั้น เขาก็ยังรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ไม่อาจค้นพบหรือเปิดเผยความหมายหรือสัญลักษณ์ในสิ่งต่างๆ ได้เลย
ผมได้เรียนรู้จากรายการวิทยุรายการนี้ว่า บทกวีของ วิลเลี่ยม คาร์ลอส วิลเลี่ยมส์นั้น อยู่บนความมั่นใจที่ว่าทุกสิ่งล้วนมีความหมายในตัวของมันเองและเป้าประสงค์ในศิลปะของเขาก็คือการทุ่มเทประสาทสัมผัสทั้งหมดในตัวให้กับสิ่งต่างๆ เพื่อที่เขาจะได้ให้ความหมายมันด้วยตัวของเขาเอง
ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่างานกวีของวิลเลี่ยมนั้นสั้นกระชับและปราศจากอารมณ์ฟูมฟาย และด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้มันมีผลต่ออารมณ์ของผู้อ่านอย่างสูง
สิ่งที่ผมได้ฟังนั้นส่งผลต่อผมอย่างมาก ผมไม่ควรที่จะให้สิ่งเกินเลยกับอาคารของตัวเอง หากแต่ควรปล่อยให้ตัวอาคารนั้นกระตุ้นอารมณ์ของผู้พบเห็นด้วยตัวของมันเอง มันควรจะเป็นอาคารที่แสดงตัวตนที่แท้ของมัน ใกล้เคียงกับแก่นสารที่ผมตั้งใจจะให้มันเป็น ผมควรมั่นใจว่าหากอาคารถูกสร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามประโยชน์ใช้สอย และที่ตั้งของมัน มันจะบ่งบอกถึงจุดเด่นของมันได้อย่างชัดแจ้งโดยปราศจากการตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยเกินไป
ความงามขั้นเอกอุคือ การใส่ใจกับแก่นสารของทุกสิ่งอย่างยิ่งยวด
หากทว่า อะไรเล่าคือปัจจัยสำคัญในการสรรสร้างสถาปัตยกรรมที่เปี่ยมด้วยแก่นแท้ อะไรเล่าคือปัจจัยสำคัญในการสรรสร้างสถาปัตยกรรมที่ไปพ้นความฉาบฉวยและฟุ่มเฟือยด้านการตกแต่งจนเกินงาม
อิตาโล่ คัลวิโน่ (Italo Calvino) นักเขียนชาวอิตาเลียนกล่าวไว้ในงานชื่อ-Lezioni Americane-ถึงกวีอิตาเลียนนาม เจียโคโม่ ลีโอปาร์ดี้ (Giacomo Leopardi) ผู้นำเสนอวิธีมองความงามในงานศิลปะ ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของงานวรรณกรรม เขาเสนอว่าวรรณกรรมที่งดงามนั้นควรถึงพร้อมด้วย ความคลุมเครือ การเปิดกว้างและความไม่จงใจ เพื่อที่ว่ามันจะเปิดโอกาสให้เกิดการตีความหรือการทำความเข้าใจในมิติอันหลากหลาย
ความเห็นของลีโอปาร์ดี้นั้นน่ารับฟังมากทีเดียว ผลงานสร้างสรรค์หรืองานศิลปะที่กระทบกระเทือนจิตใจเรานั้นจำเป็นต้องนำเสนอแง่มุมอันหลากหลาย มันควรมีชั้นความหมายที่มากมายหรือไม่รู้จบอันซ้อนทับหรือถักทอเกาะเกี่ยวไปมา และชั้นความหมายเหล่านี้เองควรเเปรเปลี่ยนไปเมื่อเรามีมุมมองที่แปรเปลี่ยนไปเช่นกัน
แต่สำหรับผู้เป็นสถาปนิกแล้วเราจะสร้างชั้นความหมายอันลึกซึ้งหรือเปิดกว้างให้กับอาคารของเราได้อย่างไร? ความคลุมเครือหรือความไม่แน่ชัดจะถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าได้หรือไม่? และมันจะมิไปขัดแย้งกับความชัดเจนแจ่มชัดที่กวีวิลเลี่ยมส์นำเสนอไว้ก่อนหน้ากระนั้นหรือ?
คาลวิโน่เป็นผู้ค้นพบคำตอบของความจัดแย้งนี้จากงานเขียนของลีโอปาดี้ เขาชื้ให้เห็นจากตัวบทของลีโอปาดี้ ชายผู้หลงใหลในความคลุมเคลือผู้นี้ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างสูงที่จะอธิบายในสิ่งที่ยากจะอธิบาย เขาพยายามกระตุ้นให้เราคิดก่อนจะมอบบทสรุปว่า สิ่งที่ลีโอปาดี้นำเสนอเรานั้นก็เพื่อให้เราเข้าถึงความงามของความคลุมเคลือและความไม่ชัดเจน เขาเรียกร้องให้เราใส่ใจในรายละเอียดของทุกสิ่งอย่างหมดจิตหมดใจ ให้เราหาถือเอารายละเอียดเป็นกิจการงานสำคัญ ทุกวัตถุที่เราเลือกใช้ ทุกแสงเงาที่เรากำหนด ทุกบรรยากาศที่เราสร้างสรรค์ เพื่อให้ไปถึงเป้าประสงค์แห่งความวิจิตรงดงามของความคลุมเคลือ คาลวิโน่ประกาศด้วยถ้อยคำที่แทบจะเป็นความขัดแย้งในตัวของมันเองว่า กวีที่มุ่งมั่นจะแสวงหาความคลุมเคลือนั้นเองคือกวีที่ชัดเจนในตนเอง
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมจากเรื่องเล่าของคาลวิโน่มิใช่ข้อเรียกร้องของเขาให้เราใส่ใจกับรายละเอียดของทุกสิ่งอย่างลึกซึ้งและพากเพียร งานของสถาปนิกคืองานของรายละเอียดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว หากแต่เป็นประเด็นที่ว่าความลุ่มลึกและความหลากหลายอันชวนให้เกิดการตีความของงานศิลปะนั้นเกิดจากตัวงานนั้นๆ เองเมื่อเราทำการสังเกตมันอย่างตั้งใจและพร้อมจะให้มันทำหน้าที่โดยตัวของมันเองอย่างสมบูรณ์ และเมื่อประยุกต์ใช้สิ่งนี้กับงานสถาปัตยกรรมมันก็มีความหมายต่อผมว่าพลังและความหลากหลายจะต้องอุบัติจากสิ่งค้ำยันหรือประกอบสร้างมันขึ้นมาหรืออาจกล่าวให้ชัดคือเกิดจากส่วนประกอบทั้งหลายของมันนั่นเอง
คำบรรยายท่อนต่อไปนี้ของ ปีเตอร์ ซุมตอร์ น่าสนใจมากสำหรับสถาปนิกและนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ปีเตอร์ ดูจะแยกกระบวนการสร้างงานสถาปัตยกรรมออกเป็นสองแบบ แบบแรกนั้นเป็นความเชื่อที่ว่าสถาปัตยกรรมเป็นตัวแทนของชุดความคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบ โดยปีเตอร์ยกตัวอย่างงานของกลุ่มสถาปนิก แฮร์วอก เด โมรอน ในขณะที่งานสถาปัตยกรรมแบบที่สองนั้น ตัวสถาปัตยกรรม Exist อยู่นอกเหนือตัวสถาปนิกมาเนิ่นนานแล้ว โดยสถาปนิกมีหน้าที่เข้าไปจัดองค์ประกอบทั้งหลายให้สมบูรณ์เท่านั้นเอง ความคิดที่ว่านี้ ทำให้เห็นว่าปีเตอร์ค่อนไปทางความเชื่อแบบตะวันออกที่คิดว่าผลงานสร้างสรรค์นั้นควร Detach ออกจากตัวผู้สร้าง และการไม่ยึดติดกับตัวงานหรือ Non Attachment สร้างงานโดยปราศจากผู้สร้างดังว่าจะทำให้งานสมบูรณ์แบบด้วยตัวของมันเองยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย
อดหวังไม่ได้ว่าหากหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เมื่อใด การจัดสัมมนาว่าด้วยแนวทางการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันดังว่านี้น่าจะให้ความคิดใหม่ๆ ได้มากทีเดียว
จอห์น เคจ (John Cage) นักประพันธุ์เพลงร่วมสมัยคนหนึ่งกล่าวในการบรรยายครั้งหนึ่งของเขาว่าเขาไม่ใช่นักประพันธุ์เพลงที่ได้ยินเสียงดนตรีในหัวและถ่ายทอดมันออกมา กลวิธีในการประพันธุ์เพลงของเขานั้นเป็นอีกแนวทางหนึ่ง เขาจะคิดถึงแนวคิดของเพลงและโครงสร้างของเพลงนั้นๆ ก่อนที่จะทดลองบรรเลงมันออกมาว่ามันให้เสียงและความรู้สึกเช่นไร?
เมื่อผมอ่านพบคำกล่าวเช่นนี้ของเคจ มันทำให้ผมนึกถึงงานออกแบบ Thermal Bath ของเราที่อยู่ในหุบเขาโกรเบาเด้น แคนตัน ที่สวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงของการออกแบบนั้น พวกเราไม่ได้นึกถึงการสร้างรูปทรงที่ชวนให้จดจำและบังคับให้ทุกอย่างเป็นไปตามรูปทรงนั้นเลย หากแต่กลับสนใจลงไปตรงคำถามพื้นฐานที่เกิดขึ้นในที่ตั้งของอาคารรวมถึงวัตถุประสงค์และตัววัสดุที่เราคิดว่าจะบ่งบอกสถานที่ตั้งอันประกอบไปด้วย ธารน้ำ เทือกเขาและก้อนหินได้ ซึ่งวัสดุเหล่านี้หาได้มีคุณลักษณ์เฉพาะด้านสถาปัตยกรรมเลย
และจากการมุ่งมั่นหาคำตอบในคำถามพื้นฐานอันได้แก่ที่ตั้ง วัตถุประสงค์ของโครงการและวัสดุที่จะใช้สร้างอาคาร ทีละเล็ก ทีละน้อย นั่นเองที่ทำให้เราค้นพบโครงสร้างและที่ว่างของอาคารอันเหมาะสมอันก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่พวกเรามากจนผมอยากเชื่อว่าคำตอบที่เราได้รับนั้นมาจากสิ่งซ้อนเร้นอันทรงพลังบางอย่างที่อยู่นอกเหนือความพยายามที่จะสร้างรูปทรงอันหวือหวาตามใจชอบแบบดาษๆ ทั่วไป
การหมกมุ่นตนเองอยู่กับคุณสมบัติภายในของสิ่งที่จับต้องได้อย่างเทือกเขา ก้อนหิน หรือธารน้ำและพยายามผนวกมันเข้ากับวัตถุประสงค์ของโครงการได้เปิดโอกาสให้สิ่งที่ซ้อนเร้นที่ว่านั้นเปิดเผยตัวของมันขึ้นมาให้เราได้ประจักษ์และเข้าใจ มันเป็นคุณสมบัติทางวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์หรือไร้มลทิน มันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการสร้างและคิดค้นรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ปรารถนาจะกลับไปสู่สิ่งที่เป็นเนื้อแท้จริงๆ ของสถาปัตยกรรม รูปทรงที่ถูกคิดขึ้นเพื่อสร้างความประทับใจหรือเตะตาไปวันๆ ไม่ว่าจะจากอะไรก็ตามทีคือตัวการสำคัญที่ปิดกั้นการเข้าถึงสิ่งซ่อนเร้นอันลี้ลับนี้
เพื่อนสถาปนิกร่วมชาติของผมคือกลุ่มสถาปนิก แฮร์ซอกและเด โมรอน (Herzog&De Meuron) กล่าวว่าสถาปัตยกรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่องนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้วในโลกปัจจุบัน ทุกสถาปัตยกรรมล้วนถูกประดิษฐ์ประดอยในความคิดของผู้ออกแบบอย่างจงใจ สถาปนิกทั้งสองท่านนั้นกล่าวเช่นนี้จากความเชื่อด้านสถาปัตยกรรมของพวกเขาว่ามันถูกสร้างขึ้นจากความคิดชุดหนึ่ง ในขณะที่ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมควรเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์แบบที่เราประจักษ์ได้ไม่ทางใดทางหนึ่งก็ตามที
ผมหาได้มีเจตนาโจมตีสถาปนิกที่เชื่อมั่นว่าสถาปัตยกรรมคือตัวแทนของชุดความคิดของสถาปนิกผู้ใดหรือกลุ่มใดเลย ผมเพียงแต่ต้องการจะบอกว่าความเชื่อที่ว่าสถาปัตยกรรมที่มีความสมบูรณ์แบบในตัวของมันเองนั้น ที่พวกเขาเชื่อว่ามันไม่อาจสร้างขึ้นได้แล้วในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดก็เป็นได้ ในฐานะส่วนตัว ผมยังยืนยันที่จะเชื่อมั่นในสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง ที่ยืนหยัดได้ในตัวของมันเอง อันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผมยึดถือ แม้ว่ามันจะยากเย็น ฝืนธรรมชาติ หรือขัดความเป็นจริงต่อการสร้างมันขึ้นมากเพียงใดก็ตาม