รวมรีวิว บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning)

มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning) หลังจากดูจบแล้วประทับใจเนื้อหา บทภาพยนตร์ นักแสดง ภาพ เพลงประกอบ ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าเป็นงานภาพยนตร์ผสานวรรณกรรมที่มีความงามทางศิลปะ ละเมียด สื่อถึงจิตใจ เบื้องลึก และพฤติกรรมเบื้องหน้าท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่มีฉากในเรื่องเป็นประเทศเกาหลี

ช่องว่างระหว่างชนชั้นและพื้นที่ที่ต่างกันมากทั้งทางฐานะสังคม จิตใจ และกายภาพของมนุษย์ซึ่งล้วนมีพื้นฐานมาจากความว่างเปล่า ถูกทับถมด้วยอารมณ์ประสบการณ์ที่สะสม การมีอยู่และไม่มีอยู่ ความรุนแรง ความแค้น พลังปรารถนา ที่ค่อยๆ คุกรุ่นจนก่อเป็นไฟแผดเผาในที่สุด โดยเฉพาะตัวละครจงซู ในขณะคนที่ดูเหมือนพรั่งพร้อมอย่างเบนกับพร่องอารมณ์ความรู้สึก ไร้หัวใจ ไร้อารมณ์ต่อสิ่งต่างๆ แม้แต่น้ำตาก็ยังไม่มี แฮมีหญิงสาวที่มีชีวิตอยู่ราวกับไม่มีตัวตนและอยากจะหายตัวลับไปจากโลก

รวมรีวิว บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning)

ดูจบออกมาจากโรงภาพยนตร์ก็พุ่งไปร้าน Kinokuniya ซื้อหนังสือ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน ของฮารูกิ มูราคา อ่านเรื่องสั้น  Burn Burning แรงบันดาลใจหนังเรื่องมือเพลิง (Burning) ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนเป็นส่วนขยาย หรือภาคจิตนาการที่นำเสนอผ่านสื่ออีกแง่มุมได้ลึก ละเอียด โดยเฉพาะเกี่ยวกับจิตใจ และพฤติกรรมมนุษย์ที่อิงและอินกับปัจจุบันในบริบทสังคมและวัฒนธรรมเกาหลี
__________________

รวมรีวิว บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning)

รีวิว บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning) โดย Filmsick

วันหนึ่งจงซูได้พบกับแฮมี เพื่อนเก่าที่เคยอยู่บ้านใกล้กันในพาจูเมืองที่ห่างชายแดนเกาหลีเหนือแค่นิดเดียว เธอเป็นสาวพริตตี้ เขาเป็นหนุ่มส่งของพาร์ทไทม์ที่พยายามจะเป็นนักเขียน แรกทีเดียวเขาจำเธอไม่ได้เพราะเธอไปศัลยกรรมมา เธอทักเขา และชวนเขาไปดื่ม เล่นละครใบ้ที่เธอกำลังเรียนอยู่ เรียนการลืมว่ามันไม่มีอยู่จริง ทีนี้ทุกอย่างก็เป็นจริงในใจเพราะมันไม่ต้องมีอยู่จริงๆ เธอเล่นให้เขาดูด้วย

ในฐานะเพื่อนเก่าเธอขอให้เขาไปที่ห้องเช่าของเธอเพื่อให้อาหารแมวตอนที่เธอไม่อยู่ เธอจะไปแอฟริกา ไปเที่ยวหาชาวป่าที่เต้นรำเพื่อตามหาความหมายของชีวิต ไม่นานจากนั้นเธอก็กลับมาพร้อมเพื่อนชายคนใหม่ที่ร่ำรวยและหล่อเหลา ทั้งคู่พบกันที่สนามบิน เขาชื่อเบน อาศัยในอพาร์ทเมนต์หรูหรากลางกรุงโซล ขณะที่จงซูกลับไปเฝ้าบ้านเลี้ยงวัวที่พาจูหลังจากพ่อติดตะรางเพราะไปก่อเรื่องมา

ดูเหมือนเบนชอบเขา และอยากเจอกับเขาเรื่อยๆแม้เขารู้สึกว่าเบนจะแย่งแฮมีไปจากเขาซึ่งเธอก็ดูมีใจ วันหนึ่งเบนกับแฮมีมาที่บ้าน พวกเขาดูดปุ๊นกัน แล้วเบนก็เล่าเรื่องที่เขาเผาโรงเพาะชำเพื่อความสนุก จากเรื่องนั้นดวงใจของจงซที่เป็นเหมือนเรือนเพาะชำร้างก็ลุกไหม้เชื่องช้าทีละน้อ

จากเรื่องสั้นต้นฉบับของ Haruki Murakami ลีชางดองเปลี่ยนรายละเอียดสำคัญเพียงจุดเดียวกล่าวคือเปลี่ยนสถานะทางสังคมของตัวละครหลักเพียงหนึ่งตัว วาดภาพให้ชัดถึงปูมหลังว่าเป็นใครจากไหนภาพฉายทั้งหมดของเรื่องเล่าความเว้าแหว่งภายในก็มีมิติทางการเมืองที่ซับซ้อนขึ้นมาทันที

ในเรื่องสั้นต้นฉบับ มันคือเรื่องของนักเขียนชนชั้นกลางร่ำรวยที่รักชอบการอยู่บ้านมากกว่าออกไปข้างนอก บังเอิญรู้จักสาวงามซึ่งอาจประกอบอาชีพเป็นเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวของพวกอีลิท วันหนึ่งเธอหายตัวไปแอลจีเรีย กลับมาพร้อมเพื่อนชายคนใหม่ที่ร่ำรวยและลึกลับ คนที่สอนให้นักเขียนรู้จัก หมกมุ่น ถลำลึกกับการทำลายล้างเรือนกายว่างเปล่าไร้วิญญาณของโรงนา กล่าวให้ง่าย เรื่องสั้นต้นฉบับคือเรื่องสั้นมาตรฐานของมุราคามิ ที่มุ่งเล่าเรื่องไร้การเมือง ชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง ร่ำรวยและมีรสนิยมแยกตัวออกจากสังคม พวกเขาอบอุ่นปลอดภัยในทางเศรษฐฐานะ ซ้ำยังมีสถานะทางสังคมที่นับว่าไม่เลวร้าย แต่ภายในยังคงกลวงเปล่า โหยหาการเติมเต็มตนเอง โดยทั่วไปก็ผ่านทางวัตถุ อาหาร วัฒนธรรมป๊อบ แฟชั่น เรื่องของ Murakami จึงใช้เวลาเป็นหน้าๆ เป็นบทๆอธิบายถึงข้าวของที่พวกเขาใช้ ดนตรีที่พวกเขาฟัง วิธีที่พวกเขาทำอาหาร บรรยายอย่างละเอียดและหลงใหลเพราะนั่นคือวิธีที่พวกเขาก่อรูปอัตลักษณ์ของตนขึ้นมา ตัดขาดจากประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ยุคสมัย ไปสู่สิ่งสากลทางเวลา ทางวัตถุ แต่นั่นไม่ทำให้พวกเขาเต็ม พวกเขาทุกคนคือโรงนาร้างที่รอการแผดเผา โดยมากก็มาจากสองสิ่งตามประสาเรื่องของผู้ชาย นั่นคือ สาวงามและ เหตุการณ์ลึกลับมหัศจรรย์

โดยทั้งหมดนั้นตัวละครหลักไม่ต้องลงมือทำอะไร พวกเขาอยู่กับที่ ฟังดนตรีแจ็ส ทำอาหาร อ่านหนังสือ เดินทางท่องเที่ยวพวกเขาจะไม่ถูกลดสถานะทางสังคม ไม่ชกต่อย ไม่ถูกทำลายฆ่าล้างครัว ถูกแฉ หรือถูกทำร้ายร่างกาย พวกเขาไม่ช่วงชิง ไม่ต่อสู้ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลอง เหวี่ยงเข้ามาในสมดุลความโดดเดี่ยว เอนโทรปีจะคายพลังงานของความลึกลับและสาวงามแล้วคืนสู่สมดุลดั้งเดิม ความ passive ของตัวละครของมุราคามิจึงทั้งคูลและเท่ สงบสยบเคลื่อนไหวและอีกครั้งกลับมาเป็นดังเดิม โรงนาที่ถูกเติมเต็มจากการเผาตนเอง

แต่สำหรับตัวละครของลีชางดอง โดยไม่ต้องสงสัยเมื่อเขาเปลี่ยนบริบทจากสังคมอีลิทญี่ปุ่นไปสู่สังคมเกาหลี เปลี่ยนนักเขียนร่ำรวยเป็นเด็กหนุ่มต่างจังหวัดลูกหลานกเษตรกรที่แม่ทิ้งไป เพิ่งปลดทหาร ทำงานเป็นเด็กส่งของที่ดิ้นรนจะเป็นนักเขียนอย่างยากลำบากยิ่งเมื่อพ่อที่เขาเกลียดก่อเรื่องจนต้องย้ายกลับบ้านนอก สาวงามถูกเปลี่ยนเป็นเด็กสาวพริตตี้ตลาดล่างที่ไม่เหลืออะไรให้ยึดจับ อาจจะมีหนี้สินติดตัว มีครอบครัวที่มีเรื่องกันอยู่ การพยายามดิ้นรนตามความฝันเป็นเรื่องเกินตัว หนังจึงกลายเป็นเรื่องความไฝ่ฝันของคนเกาหลีสามัญที่มีต่อ ‘ภาพฝัน’ ของเหล่าอีลิทร่ำรวย เบนกลายเป็นความฝันที่พวกเขาอยากจะไขว่คว้า เป็นทั้งสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เรื่องของความหมกมุ่นหลงตนความกลวงเปล่าในใจ โรคของทุนนิยมตอนปลายจึงกลายเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้น ความเคียดแค้นที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ โดยไม่มีใครรู้ตัว กัดกินผู้คนจากภายใน

หากที่น่าตื่นเต้นกว่าคือแม้หนังจะดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของมุราคามิ แต่ที่จริงแล้วหนังคือการพบกันของนักเขียน ‘อเมริกัน’ สองคนนั้นคือ F. Scott Fitzgerald และ William Faulkner ซึ่งเป็นโลกสองใบที่ร่วมสมัยปลายศตวรรษที่ 19 ต่อศตวรรษที่ 20 จงซูเรียกเบนว่า The Great Gatsby (ส่วนแฮมีเป็น The Great Hunger) ตามชื่อนิยายของ Fitzgerald ซึ่งเบนก็แทบจะถอดแบบตัวละคร Jay Gatsby คนหนุ่มที่หล่อเหลา ร่ำรวย ชอบปาร์ตี้ แต่ไม่มีใครรู้จักเขาอย่างแท้จริง ในขณะที่จงซูไม่ได้มาจาก Barn Burning ของมุราคามิ แต่มาจาก Barn Burning ของ Faulkner ที่ว่าด้วยเด็กผิวสียากจนลูกคนงานที่ต้องให้การเรื่องพ่อไปเผาโรงนาของเจ้านายจนต้องระหกระเหินไปพบกับโศกนาฏกรรมการกดขี่ทางชนชั้นครั้งแล้วครั้งเล่า

มุราคามิมักพูดเสมอว่าเขาชอบ Fitzgerald และ Faulkner เช่นเดียวกันตัวละครทั้งจากสองนักเขียนก็สวมรอยทับลงพอดีกับเรื่อง ซ้ำยังทำให้ความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังของเกาหลีใต้กับอเมริกาเปล่งประกายขึ้น Burning จึงไม่ใช่การดัดแปลงแค่เรื่องสั้นเรื่องเดียวแต่เป็นการเขียนแฟนฟิคที่หลักแหลมและคมคายถึงนักเขียนอย่างน้อยสามคน (คิดในแง่นี้ Barn Burning ของมุราคามิก็คือแฟนฟิคเวอร์ชั่น Apolitic ของเรื่องสั้นของ Faulkner อีกที)

จากนี้ไปมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ในฉากหนึ่ง ตัวละครพูดถึงแสงจากโซลทาวเวอร์ แสงซึ่งเรื่อเรืองเพียงชั่วครู่ ต้องโชคดีมากๆจึงจะได้เห็นแฮมีบอกว่าห้องของเธอ (ชีวิตของเธอ) ทั้งเย็นและหนาว ในแต่ละวันห้องจะมีแดดเพียงครั้งเดียวนั่นคือตอนที่แสงสะท้อนจากโซล ทาวเวอร์เข้ามาในห้อง และในช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของจงซูเขาได้เห็นแสงนี้ แสงซึ่งแผดเผาเขายิ่งกว่าเรื่องเล่าเผาโรงเพาะชำของเบน เป็นแสงนี้ที่ทำให้เขาเปลี่ยนจาก Little Hunger ไปเป็น Great Hunger แต่แสงนี้เช่นกันที่เผาตัวเขา โรงเพาะชำร้าง ให้ไหม้เป็นจุณ

มันจึงสำคัญมากที่ฉากนี้จะเป็นฉากที่งดงามที่สุดของหนัง หนังปอกชีวิตของแฮมีทีละนิดทั้งเรื่องบ้าน เรื่องที่เธออาจจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องมาทำงานพริตตี้ ดูเหมือนจงซู ชั่วระยะเวลาหนึ่งคือแสงจากโซลทาวเวอร์ของเธอ แต่สำหรับเธอแสงนั้นคือแสงชนิดเดียวกับพระอาทิตย์ตกในแอฟริกา มันทำให้เธออยากหายไปจากโลกนี้ตรงกันข้ามมันกลับปลุกปรารถนาในใจของตัวโง่งมอย่างอีจงซู ที่ยูอาอินให้การแสดงที่น่าทึ่งด้วยการอยู่ระหว่างการริษยาเบน และการชื่นชมความเป็นเบน ปรารถนาในตัวแฮมี และอยากแค่ทะนุถนอมเธอไว้ อาการอ้าปากค้าง ฉงนฉงาย ยิ้มเก้อ และ กระอักกระอ่วน จึงเป็นการแสดงภาษากายที่น่าทึ่ง ในขณะเดียวกันซอนจงซอก็อาศัยความยั่วยวนที่เคลือบด้วยความไร้เดียงสาที่อยู่บนผิวเปลือก การใช้ภาษากายและสายตาของเธอทั้งทรงเสน่ห์และเศร้าสร้อย แต่ไม่มีอะไรน่าประทับใจไปกว่า อาการหาวพลางยิ้มของสตีเฟน ยอน ฉากนี้ปรากฏสองครั้ง ทั้งสองครั้งมีแต่จงซูที่เห็น การหาวเหยียดราวกับว่าโลกทั้งใบล้วนเป็นสิ่งที่เขาเคยเห็นมาแล้ว มันน่าเบื่อ แต่ก็ต้องรักษามารยาท ยิ่งผลักให้จงซูรู้สึกว่าตัวเองนั้นโง่งมมากขึ้นเรื่อยๆและยิ่งเขารู้สึกเขาก็ยิ่งรู้สึกว่าความยากแค้นของเขา ทุกข์ของเขาไม่ได้มาจากการที่เขาไม่เอาไหนมากไปกว่าการถูกแย่งชิงไป เหมือนที่เบนแย่งชิงแฮมีไป ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม ยิ่งเมื่อเบนพูดถึงสองครั้งคราว่าเขาอิจฉาคนแบบแฮมีและจงซู ที่ร้องไห้ได้ หรือได้เป็นที่รัก ความรู้สึกริษยาของเบนกลายเป็นการดูถูกความรู้สึกของคนแบบจงซูที่สูญเสียหญิงคนรักเพราะตัวเอง สูญเสียพ่อ และได้พบแม่ที่ทิ้งไปกลายเป็นคนแปลกหน้า

ในขณะเบนกลายเป็นภาพแทนของอุดมคติของคนหนุ่มสาว ทั้งหล่อเหลา ร่ำรวยและมีรสนิยม การเลือก Stephen Yeon มาเล่นเป็นเบนได้ผลมากกว่าที่คาด เพราะนอกจากเบนจะเป็นตัวแทนของสิ่งที่เหมือนหลุดออกมาจากโฆษณาในฐานะบรรทัดฐานขั้นสุดของหนุ่มสาวเกาหลี เขายังเป็นตัวแทนของเกาหลี-อเมริกัน อันเป็นภาพแทนของสังคมเกาหลีใต้ขั้นกว่า ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจงซูที่มีบ้านอยู่ติดชายแดนเกาหลีเหนือชนิดได้ยินเสียงโฆษณาชวนเชื่อข้ามพรมแดนมา เบนจึงเป็นทั้งขั้วตรงข้ามและความฝันใฝ่ของจงซู

ในขณะที่แฮมีกลายเป็นเหมือนคู่แฝดของจงซู จากปูมหลังที่มีร่วมกัน ปัจจุบันที่คล้ายคลึงกัน และอาจจะมีอนาคตไม่ต่างกันมากนัก สิ่งที่แตกต่างไปคือความทะเยอทะยานของแฮมีที่จะไปให้ไกลกว่าเดิม จนอาจบอกได้ว่าแฮมีคือTHE GREAT HUNGER ในขณะที่จงซูคือเหล่าคนป่าที่ LITTLE HUNGER แล้วโดนเสียงกลองกล่อมเกลาให้ยกแขนขึ้นฟ้าตามแฮมีไป

หัวใจหลักทั้งหมดของหนังจึงไม่ได้อยู่ที่การเผา หากอยู่ในฉาก ‘ปอกส้ม’ ในฉากแรกนั้น แฮมีสอนให้จงซูรู้จักละครใบ้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเสแสร้งว่าสรรพสิ่งมีอยู่ แต่คือการลืมไปเสียว่ามันไม่มีอยู่ ไม่ใช่การเสแสร้งว่าตัวเองเป็นเพียงคนแร้นแค้น แต่ลืมความแร้นแค้นและพุ่งตรงไปยังปรารถนาล้ำลึกในใจ สำหรับฉอมี เบนไม่ใช่ปรารถนาของเธอมากกว่าการมีชีวิต การได้ออกไปพบโลก และการ ‘หายไปให้เหมือนว่าไม่เคยมีอยู่’

ตลอดทั้งเรื่องหนังจึงล้อเล่นกับ การลืมว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่ การมีอยู่และหายไปให้เหมือนว่าไม่มีอยู่ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นด้านกลับของ ‘การดำรงอยู่โดยพร้อมเพรียงกัน’ดังที่เบนพูดไว้ ถ้าแฮมีคือการมีโดยไม่มี เบนคือการมีแม้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง จงซูก็เป็นเพียงเด็กหลงทางที่ถูกโลกที่มีอยู่จริงบีบคั้น และถูกโบยตีกับโลกที่ไม่มีอยู่ เพราะเขาไม่อาจลืมว่าจริงๆ แล้วเขา ‘ไม่มี’

การเผาครั้งแรกในหนังจึงไม่ใช่การเผาโรงเพาะชำ โดยส่วนตัวฉากจบของหนังอาจจะเป็นฉากจบที่ออกจะคุ้นชินกันดีอยู่สำหรับหนังในตระกูล Slow burn แต่อย่างไรก็ดีมันก็สอดรับกับตัวเรื่องจนให้อภัยได้เมื่อจงซูเลือกจะเผา แต่ไม่ใช่โรงเพาะชำร้างที่รอคอยการมอดไหม้อย่างตัวเขาเองแต่เป็นอย่างอื่น

มันจึงเต็มไปด้วย การมีอยู่พร้อมๆ กับไม่มีอยู่ของ โรงเพาะชำที่ถูกเผา แมวที่เธอพบ บ่อน้ำที่แฮมีตกลงไป และชีวิตของแฮมี การที่เบนไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่ได้ทุกสิ่งไป (อย่างน้อยในสายตาของจงซู) และ จงซู พยายามแทบตายแต่ไม่ได้อะไรเลย (ในสายตาตัวเอง) ทำให้เบนคือการปรากฏอยู่อย่างพร้อมเพรียงกัน และจงซูคือคนที่ไม่อาจลืมได้ว่าเขาไม่มี การตระหนักว่าเขาไม่มีก็คือการสูญเสีย การตระหนักการสูญเสียทำให้ในที่สุดเขาเดินไปสู่จุดที่ว่าสิ่งที่เขาไม่มีนั้นเป็นเพราะเขาถูกแย่งไป ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีมันอยู่ตั้งแต่แรก ถ้าอีชางดงบอกว่านี่คือหนังไตรภาคความเคียดแค้น เขาก็ได้ค่อยๆคลี่เอาความเคียดแค้นออกมาแสดงให้ผู้ชมเห็นว่ามันมาจากไหนมากกว่ามันทำงานอย่างไร

ที่มา : รวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์ มือเพลิง จาก www.facebook.com/Kafelme/

รวมบทวิจารณ์เรื่องมือเพลิง >>
www.facebook.com/Kafelme/photos/a.2172633576352181.1073741912.1503988563216689/2172633693018836/?type=3&theater

__________________

รีวิวละเอียดยิบ สปอยล์ยับ “Burning” เพลิงพิโรธแห่งวรรณะ | ปรภพแห่งเปลวเพลิงภายใต้ความหมายของการเป็น “มนุษย์”

ก่อนอื่นเลยคือตัวสั่นออกจากโรงมาก รีบกลับมาห้องเพื่อเขียนริวิวในขณะที่ความทรงจำยังสดใหม่มากที่สุด จะพยายามเล่าให้ฟังอย่างละเอียดที่สุด กับการตีความไปในแต่ละฉาก พร้อมแสดงความคิดเห็นในส่วนของตัวเราเองว่ามันเกิดอะไรขึ้นมา ใคร อะไร ทำไม ยังไง ในความรู้สึกของเรา ตรงส่วนนี้แวะมาพูดคุยกันได้ เห็นด้วย เห็นต่างยังไง จัดเต็มกันมาได้เลยครับ

เริ่ม !!!

– เรื่องเริ่มต้นจาก จงซู พระเอกของเรื่องบังเอิญพบกับ แฮมี เพื่อนบ้านระแวกเดียวกันสมัยเด็ก หนังเล่าให้เราฟังถึงความสัมพันธ์เก่าที่ฝ่ายหนึ่งจำอีกฝ่ายได้ แต่อีกฝ่ายจำเราไม่ได้เลย ในความทรงจำของจงซู แฮมีไม่เคยมีตัวตนอยู่ด้วยซ้ำ เพิ่งจะมาปรากฏตัวและเริ่ม “บันทึก” ลงในความทรงจำ ในช่วงเวลาที่เขากำลังเดี่ยวดาย แม่ก็ทิ้งไปตั้งแต่เด็ก พ่อก็มีเรื่องมีราวขึ้นศาล พี่สาวก็แต่งงานย้ายไปอยู่กับสามีนานแล้ว เขาไม่เหลือใคร ไม่เหลืออะไร สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวตัวเองไว้คือความฝันอันเล็กน้อยว่าอยากจะเป็น “นักเขียน” และนั้นและ อยู่ดี ๆ แฮมีคนใหม่ที่สวยกว่าเดิมก็ได้เข้ามาปรากฏตัว (นางเคลมว่าตัวเองไปศัลย์ฯมา) พร้อมทอดสะพานสานไมตรีระหว่างหนุ่มสาว

– ถัดจากนั้นแฮมีชวนจงซูดื่ม พร้อมเล่าว่าตัวเองนั้นได้ไปหัดเรียนละครใบ้มา

message แรกที่เราเห็นคือ “ไม่ใช่คิดว่ามันมีจริง แต่ต้อง ‘ลืม’ ให้ได้ว่ามันเคยมี” ตรงนี้ไม่รู้ว่าผกก.จงใจไหม แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความฝันของคนสองคนที่ถูกพังยับด้วยโลกของความเป็นจริง คือมันมีอยู่จริงอ่ะ แต่ต้องลืมมันไปแล้วกลับมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง ทั้งแฮมีที่แม้ปากจะบอกเองว่าไม่ใช่ใคร ๆ ก็เป็นนักแสดงได้ แต่ไม่ได้พูดสักคำว่าตัวเองไม่คาดหวังว่าจะทำได้ ทั้งจงซูที่อยากจะเป็นนักเขียน แต่เปลวไฟในหัวใจของเขามอดไหม้และดับลงไปตั้งแต่ที่ตัวเองยังเรียนจบแต่หางานทำไม่ได้

ฉากเล่าต่อว่าแฮมีตั้งใจจะไปเที่ยว สิ่งที่หล่อนพูดคือตัวเองยังเก็บเงินไม่มากพอ แต่วางแพลนจะไปแล้วด้วยเงินในโลกอนาคตอย่างบัตรเครดิต พร้อมบอกให้จงซูช่วยมาเลี้ยงแมวให้หน่อย และแมวตัวนั้นชื่อ บอยล์ จงซูไปที่ห้องของแฮมี พร้อมมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง

อีก message ที่เราเห็นคือแฮมีสนใจในตัวจงซูตั้งแต่แรก เห็นได้จากการเตรียมถุงยางไว้ หรืออีกนัยยะหนึ่ง จงซูอาจจะไม่ใช่ผู้ชายคนแรกที่แฮมีพาเข้าห้องมา (อีกอันที่มองเห็นคือคุณป้าเจ้าของห้องที่มองขึ้นมาแล้วก็มองกลับไปเหมือนไม่ได้ประหลาดใจอะไร)

– หลังจากนั้น หนังเล่าให้เราฟังว่าจงซูต้องกลับไปบ้านเกิดของตัวเองเพื่อไปเป็นพยานในการรับฟังคำพิพากษาการก่อเหตุขัดขวางเจ้าหน้าที่ของบิดาของตน โทรศัพท์บ้านของจงซูดังขึ้นหลายครั้ง เขารับสาย แต่ไม่มีใครพูดตอบกลับอะไรมา เหมือนกับว่าแค่โทรศัพท์มาหาเพื่อฟังเสียงเฉย ๆ และที่สำคัญจงซูสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ตอนเช้าขึ้นมา เขาเอากุญแจที่บิดาทิ้งไว้ไปไขประตูห้อง และพบว่าพ่อของเขาได้เก็บสะสมมีดพกหลาย ๆ แบบเอาไว้ในเซฟ

message ที่เราเห็นในฉากนี้ คือความสัมพันธ์ที่เละเทะของคนในครอบครัว ระหว่างฟังคำพิพากษา จงซูเดินออกจากห้องไต่สวนแบบไม่เหลียวแลบิดาของตน แม้กระทั้งตัวบิดาเองก็ไม่ได้ยี่หระและไม่ได้สนใจจะพูดอะไรกับเขาเช่นเดียวกัน คิดดูว่ามันพังถึงขนาดไม่มีใครพูดอะไรต่อกันเลยแม้กระทั้งตัวเองกำลังจะต้องติดคุกแท้ๆ ส่วนเรื่องโทรศัพท์และกล่องสมบัตินั้นมันมีที่มาที่ไป อ่านต่อไปเรื่อย ๆ ก่อนนะครับ

– จงซูต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างโซลและพาซูเพราะต้องดูแลวัวของพ่อที่พ่อตัวเองขึ้นศาล ทนายความของพ่อแนะนำให้เขาไปคุยกับพ่อตัวเองซะ ให้ลดอีโก้ลง ยอมขอโทษทั้งศาล ทั้งโจทก์ เพื่อที่จะได้ลดหย่อนโทษให้ พร้อมเล่าความหลังว่าบิดาของเขาชั่งเป็นคนที่เอาแต่ใจ ยอมหัก ไม่ยอมงอ และแม้กระทั้งตัวเขาเองก็ยอมรับว่าบิดาของเขาค่อนข้าง “เป็นระเบิด” เหมือนไม่พอใจอะไรก็พอจะระเบิดเพื่อเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เช่น แม่ของเขาที่หนีไปเพราะทนกับพฤติกรรมของพ่อไม่ไหว แต่นั้นและ อย่างที่บอกไปว่ามันเละมากถึงขนาดตัวเขาเองทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านให้ช่วยกันลงนามลดโทษให้กับพ่อของตน แต่กลับไม่ยอมแม้กระทั้งจะไปคุยกับพ่อ

message ที่เราเห็นในฉากนี้คือ จงซูเป็นคนเก็บกดลึก ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาอยู่ในครอบครัวที่เลี้ยงดูสั่งสอนกันด้วยความรุนแรง เขาถูกพ่อสั่งให้เผาผลาญเสื้อผ้าของแม่ด้วยมือตัวเอง และสิ่งนั้นยังคงตามหลอกหลอนเขามาจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้จิตใจที่ไม่เป็นอะไร เรารู้สึกว่าจงซูมีปัญหาทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง เขาหลบตาคน พูดน้อย เหม่อลอย สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง มันเป็นอาการของผู้ป่วยทางจิตใจสำหรับเรามาก ๆ

– แฮมีติดต่อกลับมาอีกครั้ง หลังนางหายไปเที่ยวและจงซูต้องไปให้อาหารแมวที่ห้อง พร้อมแอบช่วยตัวเองบนเตียงของแฮมี “มากกว่าหนึ่งครั้ง”

message ที่เราเห็นในฉากนี้คือแฮมีกลายเป็นคนสำคัญของจงซู ตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดต่อกันได้ แฮมีบอกให้มารับก็มาโดยไม่มีขอต่อรองแต่อย่างไร ส่วนเรื่องการช่วยเหลือตัวเองนั้น เรามองว่านั้นคือ “ความสุข” ที่ต้นทุนถูกที่สุดเท่าที่คนระดับจงซูจะสามารถปรนเปรอให้กับตัวเองได้ คือฉากนี้มันมีนัยยะเรื่องโครงสร้างทางสังคมกดทับมาก ๆ คนรวยอาจจะมีความสุขจากการไปช็อปปิง แต่คนไม่มีทางเลือกมันไม่มีอะไรจะทำไง นอกจากเนี้ย การช่วยตัวเอง การปรนเปรอตามสัญชาตญาณของการสืบเผ่าพันธ์ และจงซูไม่ได้ทำในห้องของแฮมีแค่ครั้งเดียว เรื่องนี้เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้ง

– จงซูไปรับแฮมีที่สนามบิน และพบกับ “เบ็น” อปป้าที่แฮมีไปเจอที่แอฟริกา พร้อมไปกินร้านอาหารร้านหนึ่งในโซลที่เบนแนะนำ โดยระหว่างทางนั้นแม่ของเบนได้โทรศัพท์มาหา

message ที่เราเห็นคือ เบ็นเป็น elite ในสังคมอีกวรรณะที่จงซูไม่เคยสัมผัส และเขามี “แม่” ที่คอยเป็นห่วง โทรศัพท์ถามไถ่ พร้อมแสดงความห่วงใยว่าตนเองนั้นได้ไปกับใคร ไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร หรือแม้กระทั้งฉากที่คนขับรถแอบขับตามมาจากสนามบินก็บ่งบอกได้แล้วว่าเบ็นมีฐานะในระดับอะไร ชีวิตของเขาเกิดมาพร้อมกับ Position ที่ต้องทำตาม หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าชีวิตของเบ็นน่าอิจฉา แต่เขากลับเป็นคนที่ผมสงสารมากที่สุดในเรื่อง เพราะ…

– เบ็นกับจงซูสนทนากันถึงงานที่ทำ เบ็นบอกว่า “เขาเล่นเป็นงาน” ซึ่งเล่นในความหมายนี้คือเขาบอกว่าจะทำงานหรือไม่ทำงานล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล่นๆ ไปแล้วสำหรับตัวเขา ในขณะที่จงซูกล่าวว่าตัวเองนั้นอยากเป็นนักเขียนพร้อมบอกชื่อนักเขียนที่ตัวเองชื่นชอบ

message ที่เราเห็นคือ ความหมายในคำว่า “เล่น” ของเบ็น คือการแสดงบทบาทตาม Position ที่ตัวเขาเองถูกสังคมกำหนด ใครบอกว่ามีแต่คนจนที่ถูกกำหนดว่าต้องทำอะไร คุณเกิดมาเป็นมนุษย์คุณก็โดนทั้งความคาดหวังและการกำหนดไว้แล้ว โดยเฉพาะคนระดับ elite สังคมจะบอกว่าเห้ย คุณพร้อมทุกอย่างแล้ว = คุณต้องเพอร์เฟค คุณต้องเล่นไปตามบทบาทที่ตัวเองสุ่มเกิดมาได้ โดยเฉพาะเบ็นที่ตลอดเวลาแล้ว เขามีแต่หัวใจที่แตกสลายและอยู่ในสังคมแห่งการปลอมเปลือก สังคมที่เขาต้องสร้างเสียงหัวเราะและเอนเตอร์เทนด้วยการหาตุ๊กตา “สักคน” ไว้เป็นเพื่อนเพื่อออกงานสังคม จนกระทั้งเขาได้มาเจอกับจงซู เรารู้สึกว่าแววตาที่เขามองจงซูกับมองคนอื่น มันแตกต่างออกไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

-แฮมีร้องไห้ในระหว่างที่เล่าถึงสิ่งที่ตัวเองไปเจอมา เล่าถึงพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม เบนบอกว่าการร้องไห้เป็นสิ่งที่สวยงามมาก ๆ เพราะเขา “ทำไม่ได้” เขาอาจจะเคยร้องไห้ แต่โตมาก็ “ไม่สามารถ” หลั่งน้ำตาได้อีกแล้ว “พอไม่มีน้ำตา ก็ไม่มีหลักฐานว่ามันมีอยู่จริง”

message ที่เราเห็น หนังเล่นกับนัยยะของความว่างเปล่าอีกแล้ว ในตัวของเบน “ว่างเปล่า” มาก ๆ เขาไม่สามารถทำอะไรที่นอกเหนือไปจากบทบาทที่กำหนดมา แม้กระทั้งร้องไห้เขายังไม่สามารถทำได้เลยด้วยซ้ำ

– หนังเล่าต่อว่าเบ็นอาสาไปส่งแฮมีกลับบ้าน ฉากแสดงให้เห็นรถเก่าปุโรของจงซูและรถปอร์เช่คันใหม่ของเบ็น

message ที่เราเห็น ตอนแรกเราคิดว่าเบ็นยิ้มกะทำแต้ม และเขาทำแต้มจริง ๆ แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้กำลังทำแต้มกับแฮมี !!!

– ฉากตัดไปอีกครั้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นแต่ไม่มีใครพูดอะไรเหมือนเดิม เช้าวันรุ่งขึ้นแฮมีโทรศัพท์ชวนจงซูไปนั่งดื่มกาแฟ ตอนแรกจงซูเข้าใจว่าไปกันสองต่อสอง แต่จริง ๆ แล้วมีเบนไปด้วย เบนบอกว่าแฮมีเอาแต่พูดถึงจงซูไม่หยุด แต่แฮมีกลับสวนขึ้นมาว่า “จริงๆแล้วเบ็นต่างหากที่บอกให้แฮมีโทรศัพท์หาจงซู” อารมณ์แบบรบเร้าจงถึงที่สุดอะไรแบบนี้ ก่อนทั้งคู่จะเล่นมายากลโง่ ๆ ให้จงซูดู พร้อมชวนจงซูไปห้องเพื่อทำอาหารกิน

message ที่เราเห็น คือแฮมีหยุดความสัมพันธ์กับจงซูพร้อมเว้นวรรคที่ว่างให้กับเบน (แฮมีเรียกเบนว่า ‘อบป้า’ ถ้าเราฟังไม่ผิดนะ แต่ฟังแล้วมันได้ยินแบบนั้นจริง ๆ) เบนยังคงเป็นคนที่มองโลกด้วยสายตาประหลาด ๆ เขาไม่ได้ใส่ใจอะไรรอบ ๆ ตัวไปนอกจากการเล่นไปตามบทบาท และที่เพิ่มเข้ามาคือความสนใจในตัว “เพื่อนใหม่” ถึงขนาดชวนไปกินข้าวที่ห้อง

ฉากต่อมา แฮมี เบน จงซู อยู่ในอพาร์ทเม้นท์เดียวกัน ที่กว้างมากก มากถึงขนาดจงซูต้องถามว่าห้องน้ำไปทางไหน เขาไปเข้าห้องน้ำแล้วพบกับกล่องเก็บ “เครื่องสำอางค์” พร้อม accessories จำพวกสร้อยข้อมือต่าง ๆ จงซูออกจากห้องน้ำพร้อมออกไปสูบบุหรี่กับแฮมี และถามแฮมีว่าทำไมผู้ชายหล่อ รวย ลึกลับแบบเบน ถึงมาเลือกแฮมีเป็นแฟน แฮมีตอบกลับง่าย ๆ ว่า “เขาแค่บอกว่าชอบผู้หญิงประมาณฉัน” นอกจากนั้นก็ฉากทำอาหารของเบน ที่ทำอาหารทานเอง เพราะเขาต้องการ “ความสมบูรณ์” ในการมอบอะไรให้กับตัวเอง

message ที่เราเห็น เบนเป็นอีลิทที่เต็มรูปแบบมาก ๆ เขาใช้ชีวิตแบบเฟอร์เฟคแมน แต่เขาเองก็มีอะไรบางอย่างซุกซ่อนภายใต้บทบาทที่แสดงออกมา

ฉากต่อมา เบนชวนทั้งสองไปดื่ม ที่หน้าบาร์ เขาไม่สนใจใคร นอกจากทักทายง่าย ๆ แล้วเดินลิ้วเข้าไปข้างใน ภาพตัดไปอีกครั้ง แฮมีเล่าเรื่องที่ตัวเองไปเจอมาให้กับเพื่อน ๆ ของเบนได้ฟัง ทุกคนสนใจฟังแต่เบนทำสีหน้าเบื่อหน่าย อารมณ์แบบแค่มาทำให้มันเสร็จ ๆ ไป

message ที่เราเห็น เบน “จำเป็น” ต้องมีสังคม แต่เขาไม่ได้ชอบหรือเอนจอยกับสังคมของเขาขนาดนั้น แม้กระทั้งอารมณ์ร่วมหรือการใส่ใจคนใน party ยังแทบไม่ปรากฏออกมาด้วยซ้ำจากเขา

ฉากต่อมา จงซูกลับมาบ้านที่พาซู ทุก ๆ วันเขาจะได้ยินเสียงโฆษณาชวนเชื่อจากเกาหลีเหนือ (propaganda) ในระหว่างที่เขากำลังเลี้ยงน้องวัวอยู่นั้นเอง จู่ ๆ แฮมีก็โทรศัพท์มา แล้วบอกว่า “อยู่บ้านใช่ไหม ฉันกำลังไปหาพร้อมเบนนะ” ไม่ถึงห้านาทีปอร์เช่คันงามก็ขับมาถึงหน้าบ้านจงซู ทั้งคู่เล่าว่าบังเอิญ “แวะผ่าน” มาแถวนี้ พอดีกับช่วงพระอาทิตย์ตก เบนเอาเหล้ายาปาปิ้งมาพร้อมกับปุ่น (กัญชา) ทั้งสามนั่งสูบกัน ก่อนแฮมีจะร่ายระบำเปลื้องผ้าราวกับนกต้องสายลมแล้วหลับลงไป พร้อมให้จงซูและเบนหามเข้าบ้าน

message ที่เราเห็นคือ มันเป็นความบังเอิญที่ไม่ใช่ความบังเอิญ แม้จะเคลมว่าอยากมาแถวบ้านเก่าก็เถอะ แล้วทำไมต้องแวะมาบ้านจงซูโดยเฉพาะ? กับอีกโฟกัสคือเบนดูสนใจแฮมีน้อยมาก คือนางโป๊ช่วงบนแบบเห็นยอดพระถันทั้งสองข้าง มีแค่ผ้าคลุม แต่กลับปล่อยแฮมีไว้กับจงซูแล้วตัวเองเดินออกมานอกบ้านเฉย ๆ เลยซะแบบนั้น?

ฉากถัดไป จงซูเล่าให้ฟังถึงพ่อตัวเองที่ดีแต่ดีเดือด พร้อมเล่าถึงการเผาผลาญในวัยเด็ก และนั้นเองเป็นการเปิดประเด็นให้เบนเล่าว่า เขาเองก็เผา “เรือนเพาะชำ” บ่อยครั้ง จงซูถามว่าจะรู้ได้ไงว่าควรเผาอันไหน อันไหนที่มันมีค่าหรือไม่มี? เบนตอบกลับมาว่าเรือนเพาะชำที่เขาเผา เขาจะ “ยอมรับ” ว่าจะเผามันทุก ๆ สองเดือน คือไม่ได้ตัดสินว่าดีไม่ดี แต่กูแค่อยากเผาอ่ะยูโน้ว? 4

ครั้งล่าสุดที่เผาคือก่อนไปแอฟริกา และตอนนี้ก็ได้เวลาเผาผลาญมันอีกครั้งแล้ว เขาบอกกับจงซูว่ามันอยู่ “ใกล้ตัว” จงซูมาก ๆ ให้เฝ้าระวังไว้ให้ดี เขาเผาด้วยอารมณ์แบบฝนตก คือฝนมันจะตกมันก็ไม่ได้สนใจหรอกว่าใครจะเปียกปอน ใครจะโดนน้ำพัดซัดหายไป และจงซูก็สารภาพให้ฟังว่าเขาหลงรักแฮมี เบนหัวเราะแต่ไม่ตอบอะไรจนทำให้จงซูหัวเสียนึกว่าโดนเหยียดหยาม

message ที่เราเห็นคือ อหหหหหหหหห ฉากนี้ดูแล้วโยกตัวขึ้นมากอดเข่าเลย แฮมี หนีไปลู๊กกกกกกกกกก !!!!!!!!!! คือเกทป่ะว่าเรือนเพาะชำอีกนัยยะหนึ่งคือความหมายของสิ่งมีชีวิตที่กำลังเติบโต และที่เบนพูดว่า “ตำรวจไม่สนใจหรอก ทั่วเกาหลีมีเรือนเพาะชำร้างรอให้ไปเผามากมาย” ประโยคนี้คือเฉือนใจเรามาก ๆ นัยยะทางสังคมที่โคตร deep ลงไป ประกอบกับพาซูยิ้มเป็นเมืองใกล้เกาหลีเหนืออ่ะ อำเภอชายขอบที่แทบจะถูกลืม

ฉากถัดไป ก่อนกลับบ้านจงซูตำหนิแฮมีว่าแก้ผ้าง่ายๆต่อหน้าผู้ชายได้ยังไง ทำตัวเป็นอีตัว จนแฮมีโกรธและขึ้นรถไป และนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่จงซูได้พบเจอกับแฮมี ตลอดหลายวันหลังจากนั้น จงซูพยายามสำรวจดูว่ามีเรือนเพาะชำใดบ้างที่โดนเผาไป แต่ปรากฏว่าเรือนเพาะชำทุกเรือนระแวกบ้านกลับอยู่ดีมีสุข ในขณะที่ “ความสุข” ของเขาหายไป แฮมีไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั้งการติดต่อสุดท้ายคือสายจากแฮมี พร้อมเสียง ‘รูดซิบ’ ที่ดังขึ้นก่อนจะดับลงไป…ตลอดกาล

message ที่เราเห็นคือ แฮมี…ไปแล้ว / ไว้อาลัยสามวิฯ

ฉากถัดมา ขอเล่าสรุปรวบยอดเลยนะครับ ยกเว้นอันไหนที่เราคิดว่าเป็นนัยนะ เราจะขยายความซ้ำอีกที หลังจากแฮมีหายตัวไป จงซูพยายามออกตามหาเธอทุกวีถีทาง แม้กระทั้งไปดักเจอเบนที่ร้าน นัยยะสำคัญที่สังเกตได้ เบนถือหนังสือที่จงซูเคยบอกเขาว่า “ชอบนักเขียน” คนนี้ เลยลองหามาอ่านเล่นดู ก่อนจงซูจะพบว่าเบนเปลี่ยนผู้หญิงคนใหม่ เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกับแฮมีอย่างมีนัยยะสำคัญจากคำพูดของหล่อนคือ “ขอโทษที วันนี้งานที่ร้านยุ่งมาก ๆ ” <<< อารมณ์เป็นพวกคนทำงาน ไม่ได้ร่ำรวยแบบแฮมี ทั้งสามคนเดินออกไปหน้าร้าน ก่อนเบนจะบอกว่า

“ผมนะ ไม่เคยอิจฉาใครเลยนะ แต่ผมอิจฉาคุณที่ได้เป็นคนสำคัญของแฮมี”

“ราวเธอสลายกลายเป็นหมอกควันไปในอากาศ”

“แฮมีนะ ถังแตก ไปเที่ยวไม่ได้หรอก”

“เธอนะ โดดเดี่ยวกว่าที่คุณคิดนะ ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม”

ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เบนกล่าวถึงแฮมี ก่อนปอร์เช่จะขับห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ ไกลสุดสายตา แต่จงซูไม่ลดละความพยายาม เขาเชื่อว่าเบนต้องรู้เห็นเกี่ยวกับการหายไปของจงซู เขาพยายามติดตามเบนทั้งขับรถตามดูชีวิตไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เขาได้พบคือโลกอีกใบของเบนที่มีความสุขอยู่ตามประสาคนบนยอดฐานพีระมิด เบนไปปาร์ตี้ ไปกินข้าวกับครอบครัว เข้าโบสถ์ ไปดูงานศิลป์ ไปออกกำลังกาย ไปทำหลาย ๆ อย่าง ก่อนที่เบนจะโทรมาถามว่าเขาอยู่ไหนและมาคค่อยกระจกรถเพื่อเรียกให้เขาเข้าไปคุยกันในห้องชุด

ฉากนี้เองที่หนังแสดงให้เห็นว่า เขามีตุ๊กตาไว้เพื่อนคอนทินิวงานแทนตัวเขาเอง เขาแค่นั่งเฉย ๆ รอให้พวกหล่อนพูด เพื่อทำให้งานปาร์ตี้ไม่กร่อย นัยยะสำคัญที่น่าสนใจคือ แมวที่จงซูเพิ่งมาเห็น เป็นแมวที่เรียกชื่อแล้วนางเดินเข้ามาหาจงซูอย่างง่ายดาย และ “นี้ถึงขนาดลงมารับเลยเหรอ?” จากปากเพื่อน ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตามธรรมชาติแล้ว เบนไม่ได้ใส่ใจใครขนาดนั้น

แต่แค่จงซูจะกลับบ้าน เบนถึงขนาดลงมาตามด้วยตัวเอง !!!

มาถึงตรงนี้แล้ว เราขอพูดเองว่า ในฐานะเกย์รุกคนหนึ่ง เราว่าเบนถ้าไม่เป็นเกย์ก็ต้องเป็นไบเซ็กซ์ชวล คือสิ่งที่แสดงออกมันมากกว่าแค่ผู้ชายคนหนึ่งทรีตกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ตั้งแต่แรกเริ่มเบนสนใจจงซูมาตลอด และพยายามหาเรื่องที่จะเป็นบทสนทนาร่วมกันได้ตั้งแต่แรกเจอเช่น ผมอยากเล่าเรื่องของผมให้คุณฟัง หรือแม้กระทั้งการสนใจหนังสือเรื่องเดียวกันกับจงซู กระทั้งการรักสวยรักงามถึงขนาดมีเครื่องสำอางค์ไว้แต่งหน้าตุ๊กตา การทำอาหาร หรือบริบทอื่น ๆ เช่นการขับรถไปนั่งดูแม่น้ำคนเดียว ทั้งหมดนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเขามีใจให้กับจงซู แต่ Position ของเขาไม่สามารถแสดงออกได้แม้แต่คำพูดคำใดจะเอื่อนเอยออกไป

ตะปูดอกสุดท้ายที่ตอกฝาโลงแห่งบทสรุปอโศกของอื่นนี้คือ “แม่ของเขา”

สายโทรศัพท์บ้านที่โทรเข้ามาตั้งแต่ต้นเรื่อง คือเบอร์แม่ของเขาที่โทรศัพท์มาหาเขาแต่ไม่ยอมพูดอะไร จนกระทั้งโดนตามทวงหนี้ห้าล้านเยน ถึงได้บากหน้ามาหาลูกชายที่ไม่เจอหน้ากันมาถึงสิบหกปี และแม่ก็ไม่ได้สนใจอะไรเขานอกจากเสียงกาเกาที่ดังขึ้น ๆ จนทำให้จงซูฟิวขาด ตรงนี้เองที่ทำให้จงซูตัดสินใจโทรศัพท์หาเบนเพื่อที่จะกระทำการบางอย่าง และนั้นคือบทสุดท้ายของเรื่อง เบนได้รับโทรศัพท์จากจงซูว่าจะมาพร้อมกับแฮมี พร้อมกันนั้นเอง

จงซูแทงเบนด้วยมีดของพ่อเขา !!!

เบนพยายามหนีกลับไปที่รถ แต่หลังจากหนีไม่รอด สิ่งที่เขาทำคือการโอบกอดจงซูอย่างสุดแขน ยอมให้อีกฝ่ายฆาตกรรมตัวเองทั้งรอยยิ้ม ก่อนจงซูจะถอดทุกอย่างแม้กระทั้งกางเกงในและเผารถคันนั้นไปพร้อม ๆ กับร่างของเบน …และนั้นคือฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้

ตรงจุดนี้แหละที่เรากำหมัดแน่นและรู้สึกว่า อหห คุณหลอกดาว นี้มันหนักรักฆาตกรรมชัดๆ !!! มันคือความรัก มันคือปรภพของมนุษย์ในการดำดิ่งแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาประโคมให้กับตัวเอง ทุกคนในเรื่องยิ้มมีความเห็นแก่ตัว มีความอยาก มีความต้องการ มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง และแสวงหาบางสิ่งมาเติมเต็มให้กับหัวใจอันว่างเปล่า

บทสรุปสุดท้ายสำหรับเรา

จงซู ตัวละครชนชั้นล่างที่ไม่เคยได้สัมผัสความสุขใด ๆ แม้กระทั้งจากครอบครัว พ่อก็ใช้ความรุนแรง แม่ก็หนีพ่อ พี่สาวก็ไปแต่งงาน พอมาเจอสาวที่ชอบ สาวเจ้าก็ดันไปชอบคนที่มีเงินมากกว่าตัวเอง แถมยังโดนทรมานด้วยการเห็นชีวิตที่โคตรจะแตกต่างกันจากคนสองคน ในขณะที่อีกคนมีชีวิตสุดเพอร์เฟค กูได้แค่ดื่มน้ำโง่ ๆ กับกินข้าวปั้นสำเร็จรูป มีความสุขก็แค่การช่วยตัวเองแถมจินตนาการไปกับสาวที่ชอบ

ตัวละครชนชั้นล่างที่ฝันเลื่อนลอย ยอมเป็นหนี้บัตรเครดิตการ์ดถึงขนาดครอบครัวไม่รับกลับบ้านจนกว่าจะใช้หนี้หมด ได้โอกาสไปดูความสวยงามของโลกภายนอก เพื่อโดนโลกของความเป็นจริงซัดว่าสุดท้ายเธอก็แค่กู้เงินไปหาความสุขแบบคนชนชั้บบน แต่กลับบ้านมาทุกอย่างก็แหลกสลายการเป็นอากาศ เหมือนกับที่เธอเคยบอกไว้ตอนต้นเรื่องว่าห้องของเธอจะได้รับแสงสว่างบ้างก็ต่อเมื่อแสงจากข้างบนส่องเข้ามาบ้างใน “บางโอกาส”

เบน ตัวละครชนชั้นสูงแทนสภาพของอีลิตที่กูมีเงิน กูจะทำอะไรก็ได้ จะทำให้คน ๆ หนึ่งหายไปจากโลกใบนี้ยังทำได้เลย แต่แล้วยังไงละ? ต่อให้ใครคนหนึ่งหายไป หัวใจใครอีกคนก็ไม่ได้ถูกเติมเต็มอยู่ดี สุดท้ายแล้วตายในอ้อมกอดของคน ๆ หนึ่งด้วยรอยยิ้ม แต่ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั้งจะเอื่อนเอยถ้อยคำอะไรสักอย่างด้วยซ้ำ (แม้แววตานายมันจะฟ้องก็เถอะว่านายอยากงาบจงซู)

สุดท้ายแล้วเราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นเหยื่อของระบบ เหยื่อของระบบชนชั้นและวรรณะทางสังคม เหยื่อของความคาดหวังและตัณหา เหยื่อแห่งกิเลศ หนังเรื่องนี้ทำออกมาได้สมบูรณ์แบบ และถ่ายทอดสาส์นทุกอย่างได้ออกมาอย่างครบถ้วนจริง ๆ ทั้งคำพูด ท่าทาง การแสดงออก นัยยะการตีความ ทั้งหมดบอกกับเราว่านี้คือหนังที่เคารพคนดูมาก ๆ ควรคู่แก่การเสียเงินไปดู “มนุษย์” ด้วยกันสักครั้งจริง ๆ

สรุป หนังดี ไปดูเหอะ เขียนขนาดนี้แล้ว plss เรารักหนังเรื่องนี้มาก เราอยากให้หนังเรื่องนี้ได้ไปต่อ นะที่รักนะ ไปเถอะ
ที่มา : https://pantip.com/topic/37922648

__________________

รีวิว บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning) โดยสวนศิลป์บินสิ filmsfarmschool
เปลือยด้านมืดของเราออกมา เป็นหนังที่เผาไหม้เรามากที่สุดในรอบสี่สิบปี

หนังจบ ตัวเองเดินออกมาจากโรงแล้วหัวเราะดังๆ กับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ไปอยู่อเมริกา เพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมายี่สิบปี เรานัดมาเจอกันในโรงหนังเพื่อดูหนังเรื่องนี้ สองชม.กว่าๆ เราไม่ได้พูดกันสักคำ ไม่ได้มองหน้ากันด้วยซ้ำไป หลังจากหนังจบเราเข้าไปฉี่ในห้องน้ำตัวเราเองรู้สึกว่าหายใจไม่ออกชวนเพื่อนออกมายืนสูดอากาศ ดูหมอกที่ค่อยๆ จางคลายดอยสุเทพออกมานั่งรถกลับบ้าน เกือบสองชั่วโมง ฉากทุกฉากที่เต็มไปด้วยความรู้สึกยังตราตรึงในหัวนั่งไล่เรียงเรื่องราวและมวลความรู้สึกแต่ละฉาก

ค่อนคืน บทหนังและหนังสือที่ฉันเขียนมาหลายปี ถูกโละทิ้ง ถ้ามันอยู่ในกระดาษ ฉันก็จะเผามันทิ้งให้หมด แต่เมื่อมันอยู่ในไฟล์ ตัวเองจึงลบมันทิ้งไปให้หมด แล้วเริ่มต้นเขียนใหม่ เพลง generique ถูกเปิดวนไปทั้งคืน

วันต่อมา ไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นนอกจากไล่อ่านรีวิวหนังทุกอันที่มี ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เปิดดูคลิปยูทูปทุกอันของหนังและผู้กำกับ นักแสดง ในงานคานส์ จนในทึ่สุดฉันต้องโทรไปคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ที่เคยทำหนังด้วยกัน เมื่อคืน ฉันนอนอย่างสงบสุขขึ้นมาได้ด้วยซีรีย์เกาหลีตลกๆ แต่เช้ามืดนี้ ฉันก็คิดว่าถึงเวลาที่ฉันต้องเผาและเปลือยอะไรบางอย่างออกมาแล้ว ไม่อย่างนั้นมันจะไม่มีหลักฐานว่าหนังเรื่องนี้ได้มีอยู่จริงในช่วงชีวิตหนึ่งของฉัน

แรกที่ฉันอยากจะเขียนคือ คือ เขียนจดหมายไปขอบคุณและคุยกับผู้กำกับหนังเรื่องนี้ คนเขียนบทเรื่องนี้ โปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ นักแสดงเรื่องนี้ และคนที่นำหนังเรื่องนี้มาฉายในไทย Thida Plitpholkarnpim Documentary Club

หนังเรื่องนี้ทำให้ฉันเข้าใจชีวิตมนุษย์คนนี้ขึ้นมากมาย ทำให้ฉันโอบกอดอีกด้านหนึ่งที่แสงส่องไปไม่ถึงของความเป็นมนุษย์ของฉันได้อย่างเปลือยเปล่า

ฉันรู้จักแฮมี่ดี ฉันเคยเป็นแฮมี่

ฉันรู้จักจงซูดี ฉันเคยเป็นจงซู

ฉันรู้จักเบนดี ฉันเคยเป็นเบน

ฉากแรก ก้นบุหรี่ค่อยๆ โรยลา โผล่ออกมาก่อนหน้าพระเอก และทั้งเรื่องก็มีฉากสูบบุหรี่ที่ดูโคตรอิน มีปุ๋นกัญชากันอย่างเมามันส์ ทั้งชีวิตฉันไม่เคยลองสูบบุหรี่ กัญชา และไม่เคยอยากลอง แต่พอดูหนังเรื่องนี้ ฉันอยากลองมันสักครั้ง ฉันคิดว่ามันจะทำให้ฉันเข้าใจว่า เวลาคนเราระบายความอัดอั้นออกมาเป็นควันลอยขโมงหายไปในอากาศ มันจะช่วยให้คนเราผ่อนคลายจากสภาวะบีบรัดกดทับเราอยู่ในโลกความเป็นจริงได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีอะไรดีกว่านี้ ถูกกว่านี้ ง่ายกว่านี้ อิสระกว่านี้ที่จะระบายมันออกมาได้

ในห้องที่เช่าที่แคบๆ เหน็บหนาว ของแฮมี่ มีถุงยางอยู่ใต้เตียง กล่องแกะเก็บไว้พร้อม ห้องเล็กๆ หนาวๆ แบบนั้น จะมีอะไรทำดีไปกว่า การจุดไฟเสน่หาอันเร่าร้อนให้ร่างอบอุ่น

ฉันเคยเดินทางไปอินเดีย เพื่อตามหาความหมายของ The Great Hunger แบบที่แฮมี่ไปแอฟริกา เพิ่งเลิกกับคนรักที่คบกันมาเจ็ดปี การงานที่เคยเป็นอุดมคติพัง ความรักพัง ความฝันพัง ถังก็แตก แต่เงินก้อนสุดท้ายที่มี ฉันยกให้การออกไปหาประสบการณ์การเป็น The Great Hunger แล้วฉันก็ได้เป็นคนแบบแฮมี่ ได้พบและได้คว้าคนแบบ เบน ระหว่างการเดินทาง ตามหาอะไรแบบนั้น ทั้งเหงา ทั้งหนาว ทั้งเศร้า และสุขขมๆ ทำให้เราคว้าอะไรบางอย่างที่โอบกอดเราไว้ได้ ตรึงเราให้กลับมา ไม่ลอยเคว้งคว้างปลิดปลิวไปกับแสงอาทิตย์สีทองที่ลับตาหายไปกับทัชมาฮาล

ตอนอยู่อินเดีย กลุ่มเพื่อนที่ฉันแฮงค์เอ้าท์ด้วยมากที่สุด คือ กลุ่มนักดนตรี ศิลปิน และ LGBT เคยถามเพื่อนกลุ่ม LGBT ว่าทำไมพวกเอ็งต้องเซ็กซี่และ แรด จังวะ ทำไมต้องแสร่ สำส่อนเรื่องทางเพศขนาดนี้ ทำไมต้องมีความต้องการระบายทางเพศสูงส่งขนาดนั้นและทำไมพวกนางต้องแกล้งโง่ ให้ผู้ชายหลอก เลี้ยงผู้ชายเพื่อได้สำส่อนทางเพศ รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ได้รัก หลอกแดกชัดๆ พวกนางให้คำตอบเป็นเอกฉันท์ว่า เพราะไฟราคะไง ที่มันเร่าร้อนแผดเผา ที่มันทำให้พวกนางเร้าใจในการมีชีวิต หากไม่มีไฟเหล่านี้ เหมือนชีวิตมันซังกะตาย ตายด้านอยู่กับสิ่งที่โดนกระทำในสังคม มันคือการปลดปล่อยให้พวกนางมีชีวิตที่เร่าร้อน พวกนางต่างหากที่หลอกใช้ผู้ชายเหล่านั้นให้มาสนองไฟอารมณ์ ก็คุ้มที่จะแลก

จงซู ไม่ได้โง่ ไม่ได้ตกฮุกของแฮมี่ ถ้าเขาก็ไม่รู้สึกว่ามันก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะเสีย ในเมื่อมันอาจจะทำให้ชีวิตอันสุดแสนห่วยแตกของเขาเร่าร้อนขึ้นมา

….

ได้พบและคบกับคนแบบ เบนในอินเดีย และในไทย ฉันได้ไปเข้าสังคมกับคนเหล่านั้น ดินเนอร์เบาๆ คุยกันเรื่องสัพเพเหระ ฉันเล่าให้เพื่อนของคนที่เปรียบเสมือนเบนฟัง เกี่ยวกับประสบการณ์การไปเลย์ ภูเขาสีพาสเทล ตลอดระยะทางที่ทำให้ฉันไม่สามารถหลับตาได้เลย การได้ไปอยู่บนสำนักแม่ชีในลาดัก แล้วเสียงสวดมนต์ของพวกเขากรีดลึกลงไปในหัวใจอันปวกเปียกของฉันอย่างไร ฉันจับได้ว่า หลายคนแอบหาว ไม่ให้ฉันเห็น แล้วเสแสร้างยิ้มให้กัน เมื่อใครอีกคนจับสังเกตได้ แต่พวกคนแบบ เบน ก็ยังคบกับฉัน หญิงนักเดินทาง roam alone ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า เพราะเขาต้องการพลังในการค้นหา The Great Hunger ของพวกเขา เขายังชวนฉันไปดูดนตรีแจ๊ส ไปดูงานเปิดนิทรรศการศิลปะในอีกหลายๆ ครั้ง เหมือนที่เบน คบหากับ แฮมี่ และ จงซู เพราะว่าพวกเขาน่าสนใจ แม้พวกเขาจะจนติดเพดาน พวกเขาก็ยังมีความหวังในการมีชีวิต แฮมี่ ยังฝันถึง The Great Hunger และไปตามหาถึงแอฟริกา ยังจินตนาการ กินส้มได้ยั่วยวนเซ็กซี่ที่สุดแม้มันจะไม่มี ยังเศร้า และร้องไห้โฮได้ด้วยหยดน้ำตาที่แท้จริง

จงซู ดูเหมือนชีวิตจะโคตรห่วย แต่ก็ยังกล้าที่จะพูดได้ว่า ยังมีความฝันที่จะเป็นนักเขียน แม้จะไม่ได้เขียนนิยายใดๆ อย่างน้อยที่สุด เขาได้เขียนคำร้องขอลดหย่อนโทษให้กับพ่อของที่อารมณ์ร้ายของเขา

ช่วยตัวเองชักว่าว ซ้ำๆ ของจงซู ทำให้ฉันนึกถึงตัวเองที่เคยเป็น เคยทำ เคยรู้สึกถึงความต้องการทางเพศที่เร่าร้อน รุนแรง และแผดเผาเราจนจะไหม้เป็นจุลได้ ถ้าไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง ถ้าหนังเรื่องนี้ ขาดฉากนี้ไป มันคงไม่สมบูรณ์ เหมือนชีวิตด้านนี้ที่เราเคยทำ แต่ไม่เคยเล่าไม่เคยบอกให้ใครรู้

กลับมาจากการเดินทางที่ผ่านประสบการณ์แบบที่ได้พบพานกับ The Great Hunger เพื่อกลับมาเป็น The Little Hunger อย่างที่เคยเป็น มันโคตรเจ็บปวดร้าวราว จนอยากจะหายตัวไป ไม่กลับมา ไม่เป็นอยู่ ไม่มีชีวิตอีกแล้วได้หรือไม่ ดีงามที่สุด ที่หนังทำให้แฮมี่หายไปอย่างไม่ต้องชัดเจน

หน้าร้าวรานเล็กๆ แต่อาจจะเจ็บลึกที่สุดของแฮมี่ ที่ปรากฎตัวเป็นฉากสุดท้าย คือตอนที่ จงซู บอกว่า “ถอดเสื้อผ้าต่อหน้าผู้ชายมันง่ายนักหรือไง ทำตัวเหมือนเป็นกะหรี่” คำแบบนี้ ถ้าไม่ได้มาจากคนที่เราแคร์และมีความรู้สึกด้วยแล้ว เราอาจจะแค่โกรธ อยากชกปากกลับ หรือไม่ใส่ใจ แต่ถ้ามันมาจากปากของคนที่ แฮมี่ บอกกับเบนว่า เป็นคนที่เป็นเพื่อนคนเดียวที่เธอมีและไว้ใจที่สุดนั้น อาจทำให้ แฮมี่หายตัวไปจากโลกใบนี้ อย่างไม่ต้องชัดเจน

….

การตามหาสิ่งที่ใกล้ที่สุด ที่เราอาจไม่ทันสังเกตเห็น จงซู ตามหา เรือนเพาะชำรอบๆ ตัว ที่เบนอาจจะเผา หรือเผาไปแล้ว เพื่อที่จะปกป้องมัน อาจเป็นสัญลักษณ์ของการที่ คุณค่าของชีวิตแต่ละคน ที่อาจดูเหมือนโรงเพาะชำเก่าๆ ที่ชำรุด รอวันพัง ถ้าใครสักคนจะเผาทำลายมันไปก็ไม่เห็นจะเป็นไร แม้จะไม่มีกฎหมายยินยอม เรือนเพาะชำเก่าๆ ก็อาจเป็นเหมือนกับชีวิตของคนมากมายที่รอวันพัง แต่ใครจะรู้ว่า วันหนึ่ง มันอาจจะถูกบูรณะ ซ่อมแซม เพื่อเป็นเรือนเพาะชำที่ชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาได้ ถ้าไม่ยอมให้อะไรมาเผาเป็นจุลไปได้เสียก่อน

จงซู เลือกที่ปกป้องตัวเองในที ด้วยการลงมือเผาความเคียดแค้น ความโกรธ ความกระอักกระอ่วน ในจิตใจของเขาออกมา เขาชิงที่จะจุดไฟแค้นนั้นก่อนที่ใครหรืออะไรไม่รู้จะมาเป็นมือเผาไหม้ชีวิตของเขาไป ถ้าเขาไม่ชิงจุดเผาก่อน เขาเองจะตายด้วยไฟแค้นนั้นทั้งเป็น

ฉันเพิ่งเข้าใจว่า ฉันหัวเราะออกมาจากโรงทำไม เมื่อฉากสุดท้ายเป็นอย่างนั้น จงซู แก้เค้น ฆ่า และ เผา เบน ตอนแรกตัวเองคิดว่าเพราะ หนังมันบ้า แต่เขียนมาถึงบรรทัดนี้แล้ว รู้สึกได้ว่า ตอนนั้นคงรู้สึกคิดว่าโคตรสะใจมากกว่า !!!

หนังเปิดฉากแรกด้วยก้นบุหรี่ของจงซู ที่ค่อยๆ เผาไหม้ ทีละน้อย ความบัดซบของชีวิตที่ค่อยๆ เผาไปกับบุหรี่ และหนังค่อยๆ พาไปให้เราเห็น ความระยำของชีวิตจงซูมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุด มันก็พาไปถึงจุดที่ ชีวิตมันบัดซบเสียจนต้องเผาคนแทนบุหรี่ เปลือยตัวเองออกมา

สำหรับคนดูหนังเรื่องนี้ที่อยากเป็นคนทำหนังเล็กๆ คนหนึ่ง ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอบอกว่า หนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ในการเปลือยทุกความรู้สึกอารมณ์ของมนุษย์อันน่าชิงชังออกมา กระแทกกระทั้น สับหั่น ให้มันแหลกราญ จนไม่เหลือแต่ชิ้นดีๆ เพราะในตัวของเรามีเนื้อร้ายด้วยกันทั้งนั้น หนังสองชั่วโมงกว่าๆ ทำให้ฉันนอนไม่หลับสองคืน ฉีกบทหนัง และหนังสือที่เขียนมาหลายปีทิ้ง และทำให้ฉันกล้าที่จะคิดถึง เขียนถึง และปลดปล่อย อีกด้านหนึ่งของชีวิต

กดทับ ปกปิด ไม่เอ่ยถึง ด้านร้ายๆ ของมนุษย์เหมือนว่ามันไม่เคยมี ทำไห้ชีวิต คือ ชีวิต ได้อย่างไร

เราทุกคนรู้จักแฮมี่ในตัวเราดีหรือยัง เราทุกคนรู้จักจงซูในตัวเราดีหรือยัง เราทุกคนรู้จักเบนในตัวเราดีหรือยัง

และเมื่อเรารู้จักแฮมี่ จงซู เบน ในตัวเราแล้ว เรายอมรับพวกเขาในตัวเราได้มั้ย และสุดท้าย เรายังรักตัวเราที่เปลือยเปล่าต่อหน้าตัวเราเองและโลกได้อีกหรือเปล่า

เผาสิ !
ที่มา : https://www.facebook.com/nao.sangkara/posts/10216998783189796

รีวิว บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง มือเพลิง (Burning) โดย คนมองหนัง
Burning: ว่าด้วยการ “มี/ไม่มี” และ “จินตนาการ/ปฏิบัติการ”
อ่านบทวิจารณ์ https://konmongnangetc.com/2018/07/29/burning/