ประวัติพระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสังวโร
ต่อจากนี้ไปจะขอเล่าประวัติของเราโดยย่อ และความเป็นมาที่ได้มาพบ ถํ้าราชคฤห์มหาโพธิสัตว์ ฯ และได้มาบำเพ็ญเพียรภาวนาปลีกวิเวกเป็นเวลา ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วัน
เพราะมีความประสงค์ อะไร และได้ประโยชน์อะไรบ้าง ที่อยู่บำเพ็ญภาวนาอธิษฐานเข้าปฏิบัติธรรมองค์เดียว และได้เห็นผลอะไรบ้าง เกิดธรรมสภาวนิมิตสิ่งใดบ้าง เราพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ฯ ขอโอกาส ขออนุญาตต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และท่านมุนีบัณฑิตเมธี ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เราขอเมตตาท่านสาธุชนญาติธรรมทุกท่านได้ทราบ ดังต่อไปนี้
ณ ดินแดนแสนสงบเย็นเป็นสุข เมืองอู่ข้าวอู่นํ้า ลุ่มแม่นํ้าโขงของราษฎร อาณาจักรล้านนาในอดีต คือ ปฐมมหานคร เมืองชัยบุรีศรีโยนกพันธุมตีเชียงแสน เป็นเมืองต้นกำเนิดพระพุทธศาสนาของประเทศไทย เป็นเมืองอันมีอารยธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานนับหลายพันปี มีสถานที่สำคัญ และปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลายแห่ง เช่น พระมหาชินธาตุดอยตุง พระธาตุช้างมูบ พระธาตุเจดีย์หลวง และถํ้าปุ่ม ถํ้าปลา พระธาตุดอยเวา พระธาตุจอมนาค และพระมหาชินธาตุเจ้าจอมกิตติ พระธาตุวัดล้านทอง พระธาตุป่าสักหัวเวียง พระธาตุกาเผือก พระธาตุปูเข้าดอยเชียงเมี่ยง พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุดอยจัน พระธาตุดอยกู่แก้ว พระธาตุดอยเวียงแก้ว พระธาตุสองพี่น้อง และพระธาตุวัดสวนดอกเชียงแสน และมีสถานที่สำคัญศักดิ์สิทธิ์ในเมืองเชียงราย เชียงแสน เชียงของอีกหลายแห่ง และในเวียงพางคำแม่สายมีปูชนียสถานหลายแห่งนับไม่ถ้วน ล้วนเป็นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาที่น่ากราบไหว้ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ ของมรดกแห่งชาติ ล้านนาไทยในอดีตทั้งนั้น ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมจารีตประเพณีอันดีงาม สืบสานต่อทอดเป็นมรดกธรรมอันลํ้าค่าของประเทศไทยเราสืบมาถึงปัจจุบันวันนี้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบทอดมรดกธรรมในพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมจารีตประเพณีอันดีงามของถิ่นล้านนาไทยเหนือ ให้ยืนยงมั่นคงอยู่คู่ฟ้าดินถิ่นล้านนาไทยในโลกา ตลอดนานเท่านาน กัลปาวสาน ด้วยเทอญ
ข้าพเจ้าเป็นชาวเมืองเชียงแสนโยนกมหานครในอดีตกาลเราได้ถือกำเนิด เกิดที่บ้านด้าย ดงป่าสัก ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีบิดาชื่อ คำหล้า ทาแกง มารดาชื่อแสงหล้า กันธดา นามเดิมชื่อ เด็กชายบุญชุ่ม ทาแกง บิดาพ่อคำหล้า ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่เด็กชายบุญชุ่มเกิดได้เพียง ๖ เดือนเท่านั้น อาศัยแม่และคุณยายแม่อุ้ยนางหลวง เลี้ยงดูจึงเติบโตขึ้นมาตามลำดับ
ชีวิตตอนเป็นเด็กลำบากยากเข็ญมาก ผ่านทุกข์โศกโรคภัยนานาประการนับไม่ถ้วน ตอนอายุได้ ๕ ขวบ คุณยายแม่อุ้ยนางหลวงได้เสียชีวิต ส่วนคุณตาชื่อ พ่อหลวงหนานหน่อ ได้เสียชีวิตไปก่อนนานแล้ว เราไม่ทันเห็นคุณตา เราอยู่มาได้ ๗ ปี แม่แสงหล้านำเราไปฝากเข้าโรงเรียนวัดบ้านทาดอนชัย ตอนนั้นได้ย้ายมาอยู่ อำเภอสันกำ แพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านทาดอนชัย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณยาย มีญาติพี่น้องมากที่บ้านนี้ ต่อมาหลังจากมาอยู่ไม่นาน แม่แสงหล้าได้แต่งงานใหม่ กับพ่อเลี้ยงชื่อ นายสมชัย วงศ์คำมีบุตรธิดาอีก ๓ คน
๑. เด็กชายวีนัส(แดง) ปัจจุบัน คือ ครูบาน้องสุขคำ มาตะปุญโญ
๒. เด็กหญิงเอื้องฟ้า เสียชีวิตเมื่อยังเล็ก ๓ ขวบกว่า ถูกสุนัขกัดตาย
๓. เด็กหญิงบัวรวย(อ้อมใจ) ปัจจุบันคือ นางอ้อมใจ ได้สมรส กับคุณประทีป (ตระการศักดิ์รัตนมงคลลาภ) มีบุตรชาย ๒ คนฝาแฝด เด็กหญิง ๑ คน ชื่อ บุญเงิน บุญทอง บุญพลอย
เราขอเล่าย้อนหลังให้ฟังต่อ ชีวิตของเราตอนยังเล็กแสนจะลำบากยากจนมากบากยากจนมาก ขัดสนทนทุกข์อย่างที่สุด เหมือนกับว่าคนในโลกไม่มีใครทุกข์ลำบากยิ่งกว่าเราอีกแล้ว ต้องทานข้าวกับนํ้าตาแทบทุกวัน หากินเลี้ยงชีวิตตามมีตามเกิด เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร พึ่งใครก็ไม่ได้ ต้องเที่ยวขอทานชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิต ได้ห่อข้าวอาหารเล็กๆ น้อยๆ พอประทังชีวิตไปวันๆ ช่างน่าสลดสังเวชใจยิ่งนักคงเป็นวิบากกรรมชาติก่อนที่ทำไว้ จึงได้เกิดมาเป็นคนทุกข์ยากไร้อนาถา หาที่พึ่งไม่ได้ มีบ้านกระต๊อบหลังเล็กมุงใบตองตึง รั่ว มองเห็นเดือนดาวบนท้องฟ้า มีฝาด้านเดียวทางหัวนอน มุ้งหมอนผ้าห่มก็ขาด มีผืนเดียว เวลาหน้าหนาวก็หนาวเหน็บถึงกระดูก เวลาหน้าฝนตกลมพัดก็หนาวเย็น เปียกชุ่มไปทั้งบ้าน ฝนรั่วเปียกนํ้าไปตาม ๆ กัน ต้องนอนแช่นํ้าอยู่ด้วยกันสี่ห้าคนแม่ลูก มีผ้าห่มขาดผืนเดียวแย่งกันห่ม ยุงก็มากมากัดดูดเลือดซํ้าให้เป็นไข้ป่ามาลาเรีย เกือบทุกคน ต้องทนทุกข์ลำบากหาเช้ากินคํ่าขัดสนยากจนอย่างไม่มีใครเหมือน เวลากลางคืนก็ได้ยินเสียงเสือป่าหมาจิ้งจอกออกหากินร้องก้องโหยหวน เสียงนกเค้า และบ่างแจ้ นกแสกร้องก้องในป่าดงพงไพรใกล้ดอยม่อนเลี่ยม เสียงไก่ป่าร้องขานขัน ฟังเสียงนํ้าค้างหน้าหนาวหยดย้อยตกจากชายคาตูบน้อย (กระต๊อบ) อยู่เชิงเขาที่ห่างไกลแสงสีความเจริญ นํ้าไฟก็หายาก นํ้าต้องไปตักที่บ่อข้างล่างเขา ในบ้านที่ห่างไกล ต้องตื่นแต่เช้าช่วยกันตักนํ้า ถ้าตื่นสายนํ้าขุ่นนํ้าบ่อแห้ง ลำบากขนาดนี้แม้แต่นํ้าดื่มแก้กระหายยังหายาก ต้องแบ่งกันดื่มคนละนิดละหน่อย พออยู่ได้ไปวัน ๆ ดังนี้
ถึงชีวิตของเราจะทุกข์ยากขนาดไหน ลำบากอย่างใด ก็ไม่มีใครบ่น ไม่มีใครในครอบครัวเราไปเบียดเบียนใครหากิน เลี้ยงชีวิตตามชอบ เรายังมีศีลธรรมประจำใจ มีเมตตาต่อสัตว์น้อยใหญ่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักเล็กขโมยน้อยของคนอื่น ไม่โกหกคดโกงเขามากิน อยู่ไปตามอัตภาพของคนยากจน ต้องดิ้นรนทนทุกข์สู้ชีวิตต่อไป ให้อยู่รอดได้ไปวันๆ อยู่มาไม่นานพ่อเลี้ยงนายสม ได้ป่วยหนัก เป็นไข้ป่าและบวมพองไปทั้งตัว แม่แสงหล้าไม่มีหยูกยารักษากัน จึงบอกให้พ่อสมกลับไปอยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้อง ส่วนแม่แสงหล้าได้พาลูกสาม คนหนีอพยพไปเมืองเชียงแสนบ้านเกิด หวังพึ่งอาศัยญาติพี่น้องและมีพี่สาวอยู่บ้านด้าย ชื่อแม่ป้าแสงดา และลุงทา จึงขอไปพึ่งพาอาศัย พักอยู่สามสี่วัน ป้าก็ให้เงินค่ารถ ๘๐ บาท และข้าวสารเสื้อผ้า แล้วบอกให้กลับไป แล้วให้เอาลูกคนเล็กไปฝาก ญาติพี่น้องเลี้ยงดู ให้ช่วยอุปถัมภ์เลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ส่วนเด็กชายบุญชุ่มให้นำไปฝาก ลุงน้อยจันตาพี่ชายพ่อ ที่บ้านแม่คำหนองบัว อำเภอเชียงแสน และป้าชื่อแม่ป้าบุญปั๋น ทาแกง และน้องชายคนกลางให้อยู่กับป้า ป้าจะช่วยเลี้ยงดูแล แม่แสงหล้าจึงเอาลูกกลับ ไปบ้านทาดอนชัย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แต่อยู่ในป่าเขาห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านสมัยก่อนส่วนมากยากจนแร้นแค้นหาเช้ากินคํ่า ส่วนมากทำ นาทำ สวน การเกษตร เลี้ยงชีพตามมีตามเกิด
แม่แสงหล้าได้นำน้องสาวคนเล็กไปฝากพ่อก๋อง แม่เพ็ชรช่วยเลี้ยงดูรับให้เป็นลูกบุญธรรม (ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสองคนพ่อก๋องแม่เพ็ชร) แล้วแม่แสงหล้าได้นำเรากลับไปเมืองเชียงแสนอีก นำเราไปฝากให้อยู่กับ คุณลุงน้อยจันตาที่บ้านแม่คำหนองบัว เราได้ย้ายมาเข้าโรงเรียน ป.๒ ที่นี้อีก ส่วนน้องชายก็ให้อยู่กับป้าแสงดา ส่วนแม่ก็เร่ร่อนพเนจรไปตามที่ต่าง ๆ หารับจ้างคนอื่น เลี้ยงชีพไปตามอัตภาพ จนถึงไม่นานพ่อเลี้ยงนายสมได้เสียชีวิตไป แม่แสงหล้าได้แต่งงานใหม่กับพ่อสมอีกคน อยู่บ้านป่าบงงาม อำเภอแม่สาย เราอยู่กับลุงไม่นานคิดถึงแม่ และทราบว่าแม่ได้แต่งงานใหม่ จึงอยากกลับไปอยู่ใกล้แม่ เราบอกลุงนำเอาไปส่งที่บ้านด้าย แม่ป้าแสงดาให้ทานข้าวแล้วก็เดินทางเท้าเปล่า ไปส่งเราที่บ้านป่าบงงาม เราพบแม่กับพ่อใหม่ก็ดีใจมาก น้องชายก็กลับมาอยู่ กับแม่ด้วยกัน เราได้เข้าโรงเรียน ป.๒ ต่อที่นี่อีก อยู่ไม่นานแม่ได้พาน้องหนีไปทางไหนไม่ทราบ ปล่อยให้เราอยู่กับพ่อใหม่คนเดียว ป้าแสงดา ทราบข่าวได้รับเอาเรากลับมาอยู่ บ้านด้าย เราได้เข้าโรงเรียนต่อให้จบ และไม่อยากย้ายไปไหนแล้ว ตั้งใจว่าถ้าจบเรียน ป.๔ แล้วจะขอบวชเณรทดแทนบุญคุณพ่อแม่ เพราะชีวิตเราเกิดมาทุกข์ลำบากมาก จึงเริ่มเห็นสัจธรรมความจริงของชีวิตมนุษย์โลก ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนน่าเบื่อหน่ายที่สุดในวัฏสงสารนี้
เราได้อยู่กับป้า ช่วยทำงานทุกอย่างในบ้าน เช่น ตักนํ้า ตำข้าว ผ่าฟืน นึ่งข้าวหุงอาหาร ทำสวนผักสวนครัวต่าง ๆ ถ้าเหลือมากก็นำไปขายในตลาด เก็บเงินเป็นค่าสมุดดินสอหนังสือเรียนต่าง ๆ เราได้เข้าโรงเรียนต่อ ป.๒ ป.๓ ป.๔ เราหาทุนเรียนคนเดียว อาศัยป้าลุงช่วยเลี้ยงดูเอาใจใส่ เวลาป่วยไข้ก็นำไปหาหมอช่วยรักษา ท่านทั้งสองรักเราเหมือนลูก พอจบ ป.๔ แล้ว เราจึงขออนุญาตป้าลุง ไปเป็นเด็กวัด แต่ป้าได้ห้ามไว้เพราะไม่มีใครช่วยทำงานบ้าน ลูกชายป้าก็เรียนหนังสือ ชั้นมัธยมเขาไม่ทำงาน ลูกหลานก็ไปอยู่ทำมาหากินที่กรุงเทพหมด เหลือแต่เรากับหลานสาวคนเล็กของป้ายังเด็กไม่รู้อะไร เราได้ขออ้อนวอนร้องไห้อยากบวชเณร ๓ วัน ป้าและลุงสงสารจึงอนุญาตให้บวชแล้วกล่าวว่า การบวชไม่ใช่ง่าย ๆ เลย ต้องถือศีล ๑๐ อยากกินของร้อนก็ได้ของเย็น อยากได้ของเย็นก็ได้ของร้อน ถ้าบวชแล้วไม่ต้องสึกมาอีก แล้วลุงก็นำไปฝากเป็นเด็กวัดกับท่านเจ้าอาวาส วัดบ้านด้ายชื่อว่า ท่านอาจารย์สินธุ์ จิรธัมโม (ปัจจุบันคือ ทิดสินธุ์) เราได้กราบมอบตัวเป็นศิษย์วัด และได้เรียนเครื่องบวช คำขอบรรพชาสามเณร และศึกษาธรรมวินัย สวดมนต์ภาวนาเจริญแผ่เมตตาและช่วยทำ งานในวัดทุกอย่าง มีการตักนํ้าล้างบาตรถ้วยชาม กวาดลานวัด ปัดยุง ปูเสื่อ ซักผ้าจีวรถวายการรับใช้ตลอด
เราได้เป็นเด็กวัดได้สี่เดือนกว่า ก็ศึกษาสวดมนต์ และคำขอบรรพชา ให้ศีลให้พรจบหมดครบแล้ว เราได้ชักชวนเด็กชาวบ้านมาเป็นเด็กวัด และบวชเณรด้วยกันอีก ๖ คน รวมกับเรา พอได้กำหนดเวลาบวชเณร วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ วันที่ ๑๘ ตอนบ่าย อาบนํ้า โกนผมแล้วบวชนาค นุ่งห่มขาวหนึ่งคืน เราเห็นคนอื่นบวช มีพ่อแม่ญาติพี่น้องห้อมล้อมกันมาก แต่เราไม่เห็นหน้าทั้งพ่อ และแม่และพี่น้อง เราเป็นเด็กกำพร้าพ่อตายตั้งแต่เกิดได้ หกเดือน ส่วนแม่ก็หายไปเงียบไม่ทราบข่าวว่าไปอยู่แห่งหนตำบลใด ทำให้ตื้นตันใจนํ้าตาตกโดยไม่ตั้งใจ แล้วก็อดทนแข็งใจ เอาผ้าซับนํ้าตา ตั้งสติให้ดีนึกว่าถ้ามีบุญคงได้พบปะแม่วันหนึ่งข้างหน้า แต่ก็ยังดีมีลุงป้าฝ่ายบิดา และฝ่ายมารดา ญาติพี่น้องมาร่วมทำบุญอาบนํ้าให้เราและจัดเครื่องบริขารบวชให้
วันที่ ๑๙ เวลาเช้า เราตื่นขึ้นตั้งแต่เช้ามืด และตอนกลางคืนได้นิมิตเห็นหลวงปู่เฒ่าองค์หนึ่ง นุ่งผ้าย้อมฝาดรัดประคด ห้อยลูกประคำถือไม้เท้าเดินออกจากต้นโพธิ์ใหญ่ในวัด ที่ใกล้ศาลา ท่านเดินออกมาหาเรา แล้วมานั่งให้ศีลให้พรแล้วกล่าวว่าบวชดีแล้ว ให้ตั้งใจภาวนาพุทโธๆๆ และตั้งใจถือศีลภาวนาอย่าได้ขาด ภายภาคหน้าจะได้เป็นต๋นบุญ เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย แล้วท่านลุกเดินหายไปที่ต้นโพธิ์ใหญ่ เราดีใจมาก ก้มกราบท่านแล้วก็สะดุ้งตื่นขึ้น มือยังพนมไหว้อยู่ เป็นนิมิตแปลกมากไม่เคยเห็นมาก่อน พอได้เวลาตอนเช้า ฉันอาหารเสร็จก็ขึ้นรถ ออกเดินทางไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีบุญยืน ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พอไปถึงวัดมีคนนำนาคมาบวชเณรกันมาก รวมทั้งตำบลมี ๓๒ รูป บวชบรรพชาพร้อมกันเวลา ๙ โมง ๑๙ นาที ตรงกับวันขึ้น ๑๑ คํ่า เดือน ๘ เหนือโดยมีท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูหิรัญเขตคณารักษ์เจ้าคณะอำเภอเชียงแสน เป็นองค์พระอุปัชฌาย์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันเหลือพระครูบาบุญชุ่มองค์เดียว) พอบวชเณรแล้วได้กลับมาพักจำพรรษาวัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ เราเจริญภาวนาเดินจงกรมแผ่เมตตาและศึกษาพระพุทธประวัติ พระธรรมวินัย และสวดมนต์เมืองเหนือ
เราบวชได้ ๑๕ วัน คนก็เล่าลือกันว่าเณรต๋นบุญมาเกิด ที่บ้านด้ายชาวบ้านชาวเมืองก็พากันมากราบไหว้ขอพรขอนํ้ามนต์ เราก็ตอบว่าเราเพิ่งบวชใหม่ไม่รู้อะไร จึงสอนให้ทุกคนมีปัญญาศรัทธานำหน้า หมั่นไหว้พระสวดมนต์ภาวนา และรักษาศีล มีจิตเมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้ทำแต่กรรมดีมีกุศลนั้นแหละ คือ การให้พรตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปกราบพระขอพรจากที่ไหนแล้ว ถ้าเราทำดีนั่นแหละคือพรอันประเสริฐของเรา ถ้าทำไม่ดีไปขอพรพระที่ไหนก็ช่วยเราไม่ได้เหมือนกัน เราก็อธิษฐานนํ้าสัจจะให้ดื่ม และสอนธรรมะเท่าที่รู้ พรรษานี้เราได้จำที่วัดบ้านด้าย และได้เข้าเรียนนักธรรม ชั้นตรีด้วย แต่ไม่ค่อยมีเวลาเป็นส่วนตัวสำหรับเรียนมากเราเจริญภาวนาตอนกลางคืน ส่วนกลางวันศรัทธาญาติโยมมารบกวนมาก เราอยากจะหนีไปอยู่ป่า แต่ก็หนีไม่ได้ ยังเล็กไม่รู้ว่าจะไปทางไหน
พรรษาที่ ๒ เราก็จำอยู่ที่วัดบ้านด้าย ช่วยสร้างวิหารใหญ่จนสำเร็จ พรรษาที่ ๓ ได้ย้ายไปจำพรรษาที่ พระธาตุดอยเวียงแก้วและได้สร้างบูรณะพระธาตุใหม่ ตอนนั้นเราเป็นสามเณรอายุ ๑๒ ปี ๖ เดือน และได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปโปรดเทศนาสอนธรรมที่วัดลอยเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเจ้าพ่ออินทนนท์ ณ เชียงใหม่เจ้าแม่สุคันธา ณ เชียงใหม่ และแม่ออกย่าเฒ่าคำแปง ศิริพันธ์ เจ้าพ่อน้อยโสภณ ณ เชียงใหม่ เจ้าพ่อชื่น สิโรรส เจ้าแม่สุริยฉาย และแม่ออกสุพิศ แมนมนตรี แม่ออกบุปผา แม่นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ และศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย เราได้เทศนาโปรดเมตตาสอนธรรมเท่าที่รู้
เราพักอยู่เชียงใหม่ ๗ วัน ๗ คืน และได้พบคุณโยมแม่แสงหล้าที่เชียงใหม่ มีคนไปเจอแม่นั่งขายกล้วยทอดอยู่ที่ ประตูเชียงใหม่ จึงบอกให้ว่าเณรน้อยลูกชายแม่แสงหล้ามาเทศนาที่วัดลอยเคราะห์ โยมแม่ได้ทราบข่าวจึงพาพ่อเลี้ยงคนแก่อายุหกสิบกว่า ชื่อว่า พ่อน้อยใจมา ชัยเผือก มาหาเราที่วัดลอยเคราะห์ เราดีใจมากจนนํ้าตาไหล ไม่ได้พบแม่หลายปีแล้ว แม่และพ่อเลี้ยงก็ดีใจจนนํ้าตาไหลเหมือนกัน เราปลอบใจแม่ ให้ศีลให้พร และมอบของเล็กๆ น้อยๆ ขนมยาให้แล้ว โยมแม่ก็กลับบ้าน ส่วนเราก็อำลาศรัทธาชาวเชียงใหม่กลับเชียงแสน ได้สร้างพระธาตุดอยเวียงแก้วต่อจนแล้วเสร็จ และปีเดียวกันนี้ พุทธศักราช ๒๕๒๑ เราได้รับนิมนต์ศรัทธาชาวเมืองพง เขตประเทศพม่า มานิมนต์เราไปโปรด เมตตาให้ศีล ให้พร และเทศนาธรรมสั่งสอน เราได้มาเมืองพงครั้งแรก และพักอยู่สามคืนแล้วอำลากลับมาจำพรรษาที่ ๓ ที่ วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว โยมแม่ก็ตามมาถือศีลอยู่ด้วยเป็นช่วงๆ เราภาวนาดีมาก จิตสงบเย็น เจริญสติปัฏฐานสี่ด้วย พิจารณาเกิดปัญญาญาณเห็นรูปนาม เกิดดับตลอด ปีนี้เราได้จำพรรษาในป่าดอยเวียงแก้ว ได้ความสงบวิเวกดีมาก จึงขอเล่าเหตุการณ์ประวัติโดยย่อตอนเป็นสามเณรน้อย จบแค่นี้ ส่วนเรื่องราวต่างๆ โดยละเอียดจะขอเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป ดังนี้
ต่อจากนี้ไป จะขอกล่าวเรื่องลำดับการจำ พรรษา ตอนเป็นสามเณร มีดังนี้
พรรษาที่ ๑ จำที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์
พรรษาที่ ๒ จำที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์
พรรษาที่ ๓ จำที่วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว บ้านเวียงแก้ว ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
พรรษาที่ ๔ จำที่วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ (วัดหลวงปู่ครูบาเจ้าธัมชัย ธัมมชัยโย)
พรรษาที่ ๕ จำที่วัดพระธาตุจอมแจ้ง บ้านกาดขี้เหล็ก ตำบลแม่โปร่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
พรรษาที่ ๖ จำที่วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ที่เดิม
พรรษาที่ ๗ จำที่วัดหนองสีมาคำป่าหมากหน่อ (ทะเลสาปเชียงแสน) บ้านห้วยนํ้าราก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
พรรษาที่ ๘ จำที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง เมืองพง (พม่า)
พรรษาที่ ๙ จำที่ป่าช้าใกล้วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมืองพง ที่เดิม
พรรษาที่ ๑๐ จำที่วัดอานันทกุฎีมหาวิหาร นครกาฐมาณฑุ(ประเทศเนปาล) ในเทือกเขาหิมาลัยรวมพรรษาตอนเป็นสามเณร ๑๐ พรรษาพอดี
ต่อไปจะได้ลำดับพรรษา ตอนอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว มีดังนี้
พรรษาที่ ๑ จำในป่าช้าวัดพระเจ้านอน หรือวัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง เมืองพง (พม่า)
พรรษาที่ ๒ จำที่วัดพระธาตุดอนเรือง บ้านป่าสา เมืองพง (พม่า)
พรรษาที่ ๓ จำที่วัดพระธาตุดอนเรือง ที่เดิม
พรรษาที่ ๔ ออกอยู่ป่าวิเวกเดี่ยวองค์เดียว จำพรรษาในป่าสวนพุทธอุทธยานใกล้พระธาตุดอนเรือง
พรรษาที่ ๕ จำที่ป่าหัวห้วยนํ้าตก ใกล้พระธาตุดอนเรือง
พรรษาที่ ๖ จำที่ดอยป่าไม้เปา ใกล้พระธาตุดอนเรือง
พรรษาที่ ๗ จำที่ถํ้าฤาษีห้วยรัง บ้านมูเซอจ๊ากู่ (พม่า)
พรรษาที่ ๘ จำที่ถํ้าฤาษีห้วยรัง บ้านมูเซอจ๊ากู่ (พม่า)
พรรษาที่ ๙ จำที่ถํ้าฤาษีห้วยรัง บ้านมูเซอจ๊ากู่ ที่เดิม
หมายเหตุ ให้ทราบ และปีนี้เอง พุทธศักราช ๒๕๓๗ โยมมารดาแม่แสงหล้ากันธดา ได้ถึงแก่กรรมลงตอนอายุเพียง ๕๓ ปี เราได้ดูแลโยมแม่อย่างดี และได้นำพาท่านไปกราบสังเวชนียสถานสี่ตำบล ที่ประเทศอินเดียด้วย และดูแลเอาใจใส่ตลอด ท่านสิ้นลมหายใจจากไปด้วยอาการสงบ ที่โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ เราได้ทำบุญเก็บศพท่านไว้ร้อยวัน แล้วทำพิธีฌาปนกิจเรียบร้อย ได้ก่อสถูปอัฏฐิท่านบูชาไว้ที่เมืองพง (พม่า) ใกล้พระธาตุดอนเรือง ได้ชี่อว่า เราได้ตอบแทนพระคุณแม่ มารดาผู้บังเกิดเกล้าอย่างดีที่สุดเราได้ชื่อว่าเป็นอุดมบุตรผู้มีความกตัญญูอย่างยิ่ง ดังนี้แล
หมายเหตุ ให้ทราบตอนเราอุปสมบทที่วัดสวนดอก โบสถ์วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระเดชพระคุณพระราชพรหมาจารย์ วัดสำเภา เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นองค์พระอุปัชฌาย์ มีพระครูเวฬุวันพิทักษ์ (ครูบามหาเขื่อนคำ) วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระศรีปริยัติคุณ (ครูบาไฝ) วัดสวนดอก ท่านเป็นเจ้าอาวาสสมัยนั้น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระสงฆ์เข้าร่วมสังฆกรรมสามสิบแปดรูป มีเราอุปสมบทรูปเดียว และมีคณะศรัทธาสาธุชนญาติพี่น้องมาร่วมทำบุญอนุโมทนา เต็มวัดสวนดอก โดยมีโยมแม่แสงหล้าและโยมพ่อเลี้ยงใจมา ชัยเผือก เป็นประธาน และโยมป้าแสงดา และโยมแม่ย่าคำแปงเป็นเจ้าภาพ ถวายอัฏฐบริขารบวช แต่ได้เสียชีวิตไปก่อนสองเดือน มีท่านคลังเขตนายเวียงชัย จันทรเจริญ เจ้าพ่อชื่น เจ้าแม่สุริยฉาย สิโรรส แม่ออกตุ๊พ่อเอกธนิต แม่ออกอุไร แม่ออกสุพิศ แมนมนตรี แม่ออกจันดี แม่ออกอัมพร พ่อออกชัยพร ศรัทธาวัดลอยเคราะห์ และวัดพันตอง วัดมหาวัน เชียงใหม่ มีท่านพระครูมนูญธรรมารมณ์เป็นประธาน และศรัทธาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมืองปาย ขุนยวม ทางประเทศพม่า รัฐฉาน ไทยใหญ่ เชียงตุ๋ง มีองค์สมเด็จมหาราชเจ้าฟ้าชายหลวง และพระมหาราช เทวี เจ้านางบุพผาวดี เชียงตุ๋ง เป็นประธาน และศรัทธาเมืองพง มีพ่อผก่าคำวาว ผก่าพ่อหนานส่วย แม่ผก่าจ้อย และพ่อจายนวล แม่นางจันทร์แสง และศรัทธาทุก ๆ คน ทางกรุงเทพฯ มีท่านนายพลเรือเอกสมัคร สายวงศ์ คุณหญิงกัณนิฐา ครอบครัวโยมแม่ อาจารย์ชลัช มานะเลิศ โยมอุดมศักดิ์ แม่วิภาวรรณ (กมลทิพย์) วิชชาพานิชย์ และลูกศิษย์ญาติโยม ที่เราไม่ได้เอ่ยนามมากมาย มาร่วมทำบุญงานอุปสมบท เราจึงขออนุโมทนาบุญมหากุศล อันยิ่งใหญ่ไพศาลหาประมาณมิได้ ขอจงสำเร็จผลแด่ทุก ๆ ท่าน ให้ถึงซึ่งมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ พระนิพพานสมบัติ ให้สมความปรารถนาจงทุกประการ ด้วยเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
นิพพาน ปัจจโย โหตุ นิจจัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง
คัดมาบางส่วนจาก สมุดจดหมายเหตุบันทึกธรรม สรุปประเมินผลในการเข้าอธิษฐานปฏิบัติธรรม
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ ถํ้ามหาโพธิสัตว์ราชคฤห์ อำเเภอ งาว จังหวัด ลำปาง
สมุดจดหมายเหตุบันทึกธรรม สรุปประเมินผลในการเข้าอธิษฐานปฏิบัติธรรม ในถํ้ามหาโพธิสัตว์ราชคฤห์
เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ รวมเป็นเวลา ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วัน ๓ ชั่วโมง
โดยมี พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร อรัญวาสีภิกขุ พุทธรังษีมุนีโพธิสัตว์ เข้าอธิษฐานปฏิบัติธรรมองค์เดียว
เนื่องในโอกาสมงคลสมัยครบการปฏิบัติธรรม เราขอโอกาสขออนุญาตแต้ม บันทึกบทธรรมสภาวะและนิมิตต่าง ๆ
ในระหว่างเข้าบำเพ็ญธรรม และประเมินผลการปฏิบัติธรรมตาม ความเป็นจริง และเปิดเผยให้ทราบจากใจจริง และคติธรรมสอนใจผู้ใฝ่ทางพระนิพพาน เพื่อเป็นแนวทางสัมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อสงบระงับดับเย็นเห็นแจ้งในสัจธรรมนำตนพ้นจากวัฏทุกข์ถึงบรมสุขเกษมยิ่งอมตธาตุ อนันตธรรมอันบริสุทธิ์ จากโพธิจิตถึงโพธิจิตทุกดวง จากธาตุรู้สู่ธาตุรู้ สู่ความว่าง ดังนี้ แล
ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นดีแล้วย่อมพ้นทุกข์ได้ ผู้มีปัญญา และความเพียร ย่อมนำตนพ้นจากทุกข์ได้ ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของหมู่ชนบุคคลไม่พึงประมาททางแห่งปัญญา บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความเพียรมีที่ใดความสำเร็จผลย่อมมีที่นั่น มุนีผู้อยู่อย่างสงบย่อมพบทางสันตินิพพาน ความสุขอยู่ไม่ไกล ถ้าใจเรารู้จักปล่อยวาง ธรรมทั้งหลายรวมลงด้วยความไม่ประมาท ดังนี้
อ่านสมุดจดหมายเหตุบันทึกธรรมโดยพระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้ที่ https://www.phutthathum.com/
ติดตามข่าวสาร พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร มูลนิธิดอยเวียงแก้ว พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ